ราชมงคลร่วมกับศิลปากรจัดงานศิลปะ ศิลปินบนถิ่นไทย 4 – 5 ส.ค.นี้
วันที่ 26 มิถุนายน 2566 นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์นภาพร นาคทิม รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตวังไกลกังวล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, อาจารย์พงศ์ภูมิ ศรชมแก้ว หัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตวังไกลกังวล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, ผู้ช่วยศาสตรา จารย์ ดร.ภูธฤทธิ์ วิทยาพัฒนา นุรักษ์ รักษาศิริ อาจารย์ประจำ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขต สารสนเทศ เพชรบุรี ร่วมกันแถลงข่าวโครงการอัตลักษณาภาษาศิลป์ กับศิลปะ ศิลปินบนถิ่นไทย ครั้งที่ 17 การประกวดผลงานแกะสลักหยวกกล้วย (แทงหยวก) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้แนวคิดสืบสานงานอนุรักษ์ น้อมสำนึก รักษ์ทรัพยากรไทย ที่ศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีนางลิษา อึ้งเห่ง ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอหัวหิน, นางทิพวรรณ สุทัศน์ ประธานศูนย์การเรียนรู้นาฏศิลป์เมืองหัวหิน – ปราณบุรี, นางนฤชล ผลงาม อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน – ชะอำ, นายอมรเทพ อ่วมมีเพียร ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นภาพร นาคทิม กล่าวว่า โครงการอัตลักษณาภาษาศิลป์ กับศิลปะศิลปินบนถิ่นไทย เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล ได้จัดงานร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ซึ่งในงบประมาณประจำปี 2566 วิทยาเขตวังไกลกังวลรับเป็นเจ้าภาพโครงการฯ เนื่องจากโครงการนี้สนับสนุนการเรียนด้านศิลปกรรม มหาวิทยาลัยเล็งเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหาย จึงจัดโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ รักษาศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ถูกกลืนไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ โดยปราศจากดุลยภาพทางปัญญาและความรู้ที่จะอนุรักษ์สิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้
“โครงการอัตลักษณาภาษาศิลป์ กับศิลปะ ศิลปินบนถิ่นไทย ครั้งที่ 17” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์คือ 1.เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้เรียน มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างผลงานต่างๆ 2.เพื่อให้นักศึกษาเล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาไทยและสืบสานต่อไป 3.เพื่อการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของชุมชน 4.เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนานักศึกษาทางด้านคุณภาพทางวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมการประกวดการแต่งกายพื้นเมืองเทพบุตรและเทพธิดาชนเผ่าไทย, กิจกรรมการประกวดผลงานการแกะสลักหยวกกล้วย (แทงหยวก) ภายใต้กรอบสืบสานงานอนุรักษ์ น้อมสำนึก รักษ์ทรัพยากรไทย, กิจกรรมการพิจารณาหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและนักศึกษาดีเด่น ด้านการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมของชาติ (บุคคลต้นแบบความดี) งานนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 5 สิงหาคม 2566 ที่ศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน.