รองผู้ว่าฯ มอบเกียรติบัตรอาสาสมัครคุมประพฤติดีเด่นจังหวัดประจวบฯ ปี 2566

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ประจำเดือนมิถุนายน 2566 ที่ห้องเกาะหลัก ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยก่อนการประชุมมีพิธีมอบประกาศเกียรติคุณ ประกาศเกียรติบัตรอาสาสมัครคุมประพฤติ (อ.ส.ค.) ดีเด่น ระดับกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ของสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดประจวบฯ มีนายวสันต์ เภรีวิค ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดฯ/ยุติธรรมจังหวัดประจวบฯ กล่าวรายงาน มีนายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ, นายองครักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานอาสาสมัครคุมประพฤติจังหวัดประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานทุกภาคส่วน เข้าร่วม

นายวสันต์ เภรีวิค ผู้อำนวยการ สำนักงานคุมประพฤติฯ กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดประกาศเกียรติคุณ มอบประกาศเกียรติบัตรให้กับอาสาสมัครคุมประพฤติดีเด่นประจำปี 2566 ว่าตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยเรื่องสิทธิประโยชน์ของอาสาสมัครคุมประพฤติ พ.ศ.2561 กำหนดให้อาสาสมัครคุมประพฤติมีสิทธิได้รับการเชิดชูเกียรติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและปัจจุบัน กรมคุมประพฤติได้มีการดำเนินการเพื่อเชิดชูเกียรติอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นประจำทุกปี จำนวน 6 ประเภท ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครคุมประพฤติเพิ่มยิ่งขึ้น กรมคุมประพฤติ จึงประกาศหลักเกณฑ์ประกาศเกียรติคุณประกาศเกียรติบัตรดีเด่นให้กับอาสาสมัครคุมประพฤติ แบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้ 1. ประกาศเกียรติคุณประกาศเกียรติบัตรดีเด่น ระดับสำนักงานคุมประพฤติ 2. ประกาศเกียรติคุณประกาศเกียรติบัตรดีเด่น ระดับกรมคุมประพฤติ โดยทั้งสองระดับ ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะและมีผลการปฏิบัติงานผ่านเกณฑ์ตามหลักเกณฑ์การพิจารณา เช่น มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งอาสาสมัครคุมประพฤติต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ 10 ปี ตามลำดับ มีผลการปฏิบัติงานด้านคดีแสวงหาข้อเท็จจริง ควบคุมสอดส่อง และ/หรือ ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่ต้องรายงานผลกลับอย่างน้อย 2 ครั้ง และผลการคุมประพฤติ พ้นการคุมประพฤติด้วยดี หรือผลการฟื้นฟูเป็นที่พอใจ ไม่น้อยกว่า 8 คดี หรือ 16 คดี หรือการปฏิบัติงานด้านกิจกรรม การมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนภารกิจของกรมคุมประพฤติไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง หรือ 24 ครั้ง และไม่ต่ำกว่า 72 ชั่วโมง หรือ 144 ชั่วโมง และภารกิจงานอื่นๆ ในการให้ความช่วยเหลือ ติดตามดูแลสอดส่องผู้กระทำผิดในหมู่บ้านหรือชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดประจวบฯ มีอาสาสมัครคุมประพฤติที่มีคุณสมบัติและมีผลการปฏิบัติงานที่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าวข้างต้น ในระดับกรมคุมประพฤติ ประจำปี 2566 จำนวน 11 ราย ได้แก่ 1.นายณรงค์ นาคหาญ 2.นายอำนาจ เบ็ญจมินทร์ 3.นายแสวง แดงฉ่ำ 4.นายบุญมา มหาพงษ์ 5.นายสนอง แจ้งอร่าม 6.นายสมเกียรติ บุญเรือง 7.นายปราโมศย์ ตั้งซุยยัง 8.นายวัชรินทร์ จันทร์เดช 9.นางนอม ร่วมวงค์ 10.นางสมจิต ยอดยิ่ง 11.นางวนัชพร ช่วยรัตน์

นายกิติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าฯ กล่าวแสดงความยินดีกับอาสาสมัครคุมประพฤติฯ ที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ เชิดชูเกียรติแสดงให้เห็นถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนแก้ไข และช่วยกันสอดส่อง ดูแล ผู้กระทำผิดในชุมชน เพื่อให้สามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดีและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในชุมชนได้อย่างปกติสุข แสดงให้เห็นถึงการมีศักยภาพของบุคลากรและหน่วยงาน และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขอชื่นชมอาสาสมัครคุมประพฤติที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณฯ มีจิตอาสาเสียสละช่วยเหลือปฏิบัติงาน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนภารกิจงานของกรมคุมประพฤติ และเพื่อพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ในชุมชนของจังหวัด ให้มีความสงบสุขปลอดภัยต่อไป.

บุญมา ลิบลับ….รายงาน

ข่าวแนะนำ