คณะกรรมการคุมน้ำเมาประจวบฯ MOU เครือข่ายงดเหล้าจังหวัดภาคตะวันตก

วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบุญประเพณี วัฒนธรรมวิถีใหม่ ปลอดเหล้าปลอดภัยจังหวัดประจวบฯ ระหว่างคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดประจวบฯ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก ที่ห้องเกาะหลัก ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี น.ส.ธนพร บางบัวงาม ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดประจวบฯ กล่าวรายงาน และมีเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเป็นพยาน มี น.ส.อุบลวรรณ คงสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก นายเรวัฒน์ สุขหอม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดประจวบฯ ตัวแทนชุมชนคนสู้เหล้าในแต่ละชุมชนทั้ง 8 อำเภอ ผู้แทนหน่วยงาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

น.ส.ธนพร บางบัวงาม ผู้ประสานงานสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดประจวบฯ กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่ประชาชนมากกว่า 13 ล้านคนลงชื่อสนับสนุน เพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกมิติ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุ อาชญากรรม คุ้มครองสุขภาพประชาชน ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงได้ง่าย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ที่สำรวจผู้อายุ 15 ขึ้นไป พบว่าจำนวนผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มจาก 38.68 ล้านคน ในปี 2554 มาเป็น 41.04 ล้านคน ในปี 2564 หรือมีนักดื่มลดลงประมาณ 2.3 ล้านคน เมื่อคำนวณปริมาณเอทานอลบริสุทธิ์ต่อหัวประชากรที่ดื่ม พบว่าอยู่ในระดับทรงตัว คือ 7.1 ลิตรต่อปี แต่เมื่อคำนวณต้นทุนที่สูญเสียจากปัญหาการดื่มในปี 2564 สูงกว่า 1.65 แสนล้านบาท อีกทั้งข้อมูลพบผู้ต้องขังอายุไม่เกิน 25 ปี สัดส่วนถึงร้อยละ 88% ดื่มสุราก่อนก่อเหตุ และผู้เสียชีวิตจากโรคตับสัมพันธ์กับการดื่ม มีถึง 2.5 หมื่นคนต่อปี

เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดประจวบฯ ขอบคุณสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชนและลดผลกระทบทางสังคม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายใช้มานาน จึงสนับสนุนให้ปรับแก้ ยืดหลักการแก้ไขให้ดีและเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 32 ห้ามใช้ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาสินค้าอื่น อาทิ น้ำดื่ม โชดา กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนกรณีมาตรา 29 ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาครองสติไม่ได้ ให้ผู้ขาย ผู้ให้บริการเป็นแนวปฏิบัติได้จริง รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุราอย่างจริงจัง สร้างแรงจูงใจให้ผู้ติดสุราเข้าสู่การบำบัด ขณะเดียวกัน กลไกการทำงานที่เข้มแข็งของเครือข่าย ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกันรณรงค์ป้องกันปัญหา ในส่วนของระดับจังหวัดจะประสานให้มีการทำงานที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

สำหรับข้อตกลง (MOU) ซึ่งจะเป็นกลไกความร่วมมือรูปแบบหนึ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย การจัดทำบันทึกข้อตกลงวันนี้ ประกอบด้วย 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.คณะกรรมการควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์จังหวัดประจวบฯ 2.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดประจวบฯ และ 3.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และพี่น้องเครือข่ายเป็นสักขีพยาน ซึ่งการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ 1) เพื่อขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงาน สร้างความเข้มแข็งภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพระดับจังหวัด
2) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานสถานศึกษา เครือข่ายเยาวชนให้มีความตระหนักเรื่องพิษภัยและป้องกันนักดื่ม นักสูบหน้าใหม่ 3) เพื่อสร้างวัฒนธรรมวิถีใหม่ ค่านิยมใหม่ในงานเทศกาล งานบุญประเพณี ปลอดบุหรี่และสุรา ลดแรงสนับสนุนการดื่ม เฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายของธุรกิจแอลกอฮอล์ และบังคับใช้กฎหมาย 4) เพื่อสนับสนุน หนุนเสริมกระบวนการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ ป้องกันเมาแล้วขับ และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ

นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่าคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดประจวบฯ นอกจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การบังคับใช้กฎหมาย ยังได้ขับเคลื่อนนโยบายการลดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง เพื่อสร้างสังคมปลอดภัยจากปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา ควบคุมการโฆษณา ส่งเสริมการขาย การให้ทุนสนับสนุนและการดำเนินการผ่านระบบภาษี ตระหนักถึงผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาได้ ทั้งนี้การปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมแผนปฏิบัติการและกฎหมายในหลายๆ เรื่อง เช่น แผนปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติระยะที่ 2 และร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติและดำเนินการตามขั้นตอน และให้ความสำคัญกับนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การจัดงานในวันนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีและสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการ ดำเนินงานร่วมกันตามแนวทางความร่วมมือ การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานดังต่อไปนี้ ร่วมรณรงค์และดำเนินการให้การจัดงานบุญประเพณีและเทศกาลต่างๆในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปลอดเหล้าปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุความสูญเสีย ลดปัญหาทะเลาะวิวาท อาชญากรรม และความรุนแรงในครอบครัว อาทิ งานกาชาด งานบวช งานแต่ง งานสงกรานต์ งานลอยกระทง งานแข่งเรือ งานเทศกาลอาหาร งานศพ งานไทยทรงดำ งานเกษียณอายุ งานสวดมนต์ข้ามปี งานวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน งานเสี้ยงอาสาสมัครในหมู่บ้าน และไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์กิจกรรมส่งเสริมการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและชุมชน อีกทั้งร่วมกันส่งเสริมกิจกรรมที่แสดงถึงคุณค่าทางประเพณีวัฒนธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กเยาวชนและครอบครัว นอกจากนี้ยังรณรงค์ชุมชนสู้เหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา ให้ชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ชวนช่วยเชียร์ ลด ละ เลิก และควบคุมบังคับใช้กฎหมาย กฎกติกาชุมชน ลดความรุนแรง ลดอุบัติเหตุ ลดการเจ็บป่วย และส่งเสริมครอบครัวให้เข้มแข็ง มีความสุข

การสนับสนุนและส่งเสริมคุณภาพชีวิต การสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานศึกษาจัดการ การศึกษา ให้ตระหนัก สร้างภูมิคุ้มกันร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน การเปิดพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ (ศิลปะ ดนตรี กีฬา วัฒนธรรม ชุมชนร่วมสมัย) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเด็กเยาวชน ให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต.

บุญมา ลิบลับ….รายงาน

ข่าวแนะนำ