สรุปแล้ว ! แบบสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดถนนเพชรเกษม – บ้านหนองหิน – ด่านสิงขร

วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 นายอุดร ผโรประการณ์ ปลัดอำเภอเมืองประจวบฯ เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) กับทางหลวงหมายเลข 4373 (หนองหิน – ด่านสิงขร) มีนายจารุพัฒน์ ศรีสะอาด วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักสำรวจและออกแบบกรมทางหลวง กล่าวรายงาน และมีนายสมชาย ปี่แก้ว นายก อบต.คลองวาฬ ดร.สุดาทิพย์ ตั้งวงศ์ไชย ผู้จัดการโครงการ ส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ เข้าร่วมประชุมที่โรงแรมแอทที บูทีค คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์

นายจารุพัฒน์ ศรีสะอาด วิศวกรโยธาฯ กรมทางหลวง กล่าวว่าปัจจุบันบริเวณสี่แยกจุดตัดดังกล่าว มีปริมาณการจราจรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริเวณด่านสิงขร อยู่ในแผนการพัฒนาด้านการค้าชายแดนในอนาคต โดยสภาพปัจจุบันของทางแยก มีลักษณะเป็นสี่แยกไม่มีสัญญาณไฟจราจรควบคุม จึงเป็นจุดตัดระดับพื้นที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างชายแดนและแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เส้นทาง ให้สามารถเดินทางได้สะดวกและมีความปลอดภัย กรมทางหลวงได้มอบหมายให้บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟเทคโนโลยี จำกัด และบริษัทเอสทูอาร์ คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นผู้สำรวจและออกแบบรายละเอียด พร้อมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเบื้องต้น (IEE) และดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ศึกษา ได้รับทราบข้อมูลและแนวทางในการศึกษาด้านต่างๆ ของโครงการ โดยเฉพาะสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการออกแบบและพัฒนาโครงการได้อย่างเหมาะสม และเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

นายอุดร ผโรประการณ์ ปลัดอำเภอเมืองฯ ได้กล่าวถึงการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการในครั้งนี้ ที่ต้องการนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ของการศึกษาและการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ รวมทั้งต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมในการวางแผนพัฒนาโครงการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ จึงหวังว่า ด้วยความมุ่งมั่นของสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ ที่จะออกแบบทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดดังกล่าว ซึ่งเป็นสี่แยกสำคัญ ที่เกิดอุบัติเหตุทางด้านจราจรบ่อยครั้ง และเป็นการรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อีกทั้งอำนวยความสะดวกทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เสริมสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และพัฒนาโครงการตามหลักวิศวกรรมที่สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่

ทั้งนี้ จากการพิจารณาให้คะแนนรูปแบบทางเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน 3 ปัจจัยหลัก รูปแบบที่มีคะแนนรวมทุกปัจจัยมากที่สุด คือ รูปแบบทางเลือกที่ 1 เป็นรูปแบบที่มีคะแนนมากที่สุด (82.75 คะแนน) รองลงมารูปแบบทางเลือกที่ 3 (68.10 คะแนน) และรูปแบบทางเลือกที่ 2 (66.20 คะแนน) ตามลำดับ โดยรูปแบบทางเลือกที่ 1 เป็นสะพานยกระดับบนแนวทางหลวงหมายเลข 4 เป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุดและจะนำไปออกแบบรายละเอียดต่อไป

สำหรับรูปแบบทางเลือกที่ 1 เป็นการก่อสร้างสะพานยกระดับข้ามทางแยก (Overpass) จำนวน 6 ช่องจราจร ไปกลับ โดยสะพานข้ามแยกกำหนดให้วางตัวไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 4 จากฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปจังหวัดชุมพร และจากฝั่งจังหวัดชุมพรไปจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความยาวสะพานประมาณ 530 เมตร โดยแต่ละ Segment วางบนแต่ละสะพาน (มี 2 สะพาน) ซึ่งสะพานแต่ละฝั่งจะพิจารณาออกแบบให้รองรับ 3 ช่องจราจร (แต่ละช่องจราจรกว้าง 3.50 เมตร) พร้อมไหล่ทาง (Shoulder กว้าง 0.50 และ 1.00 เมตร) และ Barrier (กว้าง 0.50 เมตร) มีความกว้างทั้งหมด 13 เมตร

ข้อดีของรูปแบบนี้ คือเส้นทางหลักไม่ถูกควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจร ทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เป็นรูปแบบการจราจรที่เข้าใจได้ง่าย รถที่จะเลี้ยวเข้าออกจากทางหลวงหมายเลข 4373 และถนน อบต. (ถนนเพชรเกษม – รางชะมวง) สามารถข้ามไปมาได้ เพียงแต่จะถูกควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจร เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ใช้เขตทางที่มีอยู่ได้อย่างเต็มขีดความสามารถ ราคาค่าก่อสร้างเหมาะสมน้อยกว่ารูปแบบที่ 2 และแบบที่ 3

ข้อด้อยของรูปแบบนี้ คือ รถที่มาจากทางหลวงหมายเลข 4373 ที่ต้องการเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทางหลวงหมายเลข 4 จะต้องติดสัญญาณไฟเพื่อรอเลี้ยวเข้า ทำให้เกิดการล่าช้าจากการสัญจรที่ต้องรอสัญญาณไฟจราจร โครงสร้างมีขนาดใหญ่ บดบังทัศนวิสัยบ้านเรือนรอบๆ ในขั้นตอนการก่อสร้างมีความจำเป็นต้องปิดเส้นทางหลักทั้งหมด และใช้ทางเบี่ยงทดแทนในขณะก่อสร้าง อาจทำให้การจราจรติดขัด

หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกรูปแบบทางเลือกของโครงการ คัดเลือกรูปแบบทางแยกต่างระดับ ประกอบด้วยปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดค่าน้ำหนักคะแนนเต็มในแต่ละปัจจัยของการคัดเลือก และแบ่งตามความสำคัญของแต่ละปัจจัย โดยกำหนดให้ปัจจัยด้านวิศวกรรม 40 คะแนน ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน 30 คะแนน และปัจจัยด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม 30 คะแนน.

บุญมา ลิบลับ….รายงาน

ข่าวแนะนำ