ประจวบฯ เดินหน้า “ป่าครอบครัว” บ้านทุ่งพุฒิ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ เป็นประธานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภายใต้โครงการส่งเสริมการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมย่อยป่าครอบครัว สืบสานปณิธานพ่อ สานต่อเศรษฐกิจพอเพียง ที่ศูนย์เรียนรู้ป่าครอบครัวด้านการเพาะพันธุ์กล้าไม้จากป่าชุมชน บ้านทุ่งพุฒิ หมู่ 11 ต.อ่างทอง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีนายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด นายสมเจตร์ เจริญทรง นายอำเภอทับสะแก ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เครือข่าย ทสม. แขกผู้มีเกียรติและประชาชน ร่วมกิจกรรม มีการประกอบพิธีทางสงฆ์ บวชป่า ปลูกต้นไม้ จากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้เยี่ยมชมพื้นที่แสดงและจำหน่ายสินค้าและบริการจากเครือข่ายป่าครอบครัวบ้านทุ่งพุฒิ บ้านโคกตาหอม บ้านหนองเหียง บ้านเขารางและบ้านม้าร้อง พร้อมเดินชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติพันธุ์ไม้และพืชสมุนไพร และชมดอกพุดป่า โดยปัจจุบันจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าครอบครัว จำนวน 18 เครือข่าย ครบทั้ง 8 อำเภอ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้ เป็นการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ในการนำคำสอนทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับแนวคิดการปลูกป่านอกป่า หรือการยกป่ามาไว้ในวัด หรือบ้าน หรือที่เรียกว่า “ป่าครอบครัว” ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางสังคมเพื่อชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเรื่องใหม่ที่อยู่บนฐานคิดที่ว่าครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม และมีบทบาทสำคัญที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมสามารถเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและเกิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในท้องถิ่นของตนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงขอเชิญชวนทุกคนร่วมเป็นเครือข่ายป่าครอบครัว ด้วยการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดในที่ดินที่ครอบครัวครอบครองอยู่ เช่น ที่ว่างในบ้าน ตามหัวไร่ปลายนา หรือปลูกแซมในสวนในแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ป่าดั้งเดิมที่อนุรักษ์ไว้ให้เป็นป่าธรรมชาติ หรือเป็นพื้นที่ ที่ครอบครัวปลูกขึ้นใหม่ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและป่าที่ยั่งยืน ตามนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่จังหวัดต่อไป ซึ่งสามารถขอรับกล้าไม้ได้จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์.