ศูนย์ฝนหลวงภาคใต้ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าแก่งกระจาน

วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นายสินชัย พึ่งตำบล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ เป็นประธานเปิดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช สร้างผืนป่า สร้างความชื้น เพิ่มโอกาสการทำฝน ประจำปี 2566 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมีนายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นายอติชาติ ชัยศรี รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อาสาสมัครฝนหลวงจังหวัดเพชรบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมที่ศูนย์ฝนหลวงหัวหินภายในท่าอากาศหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ

ด้วยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช สร้างผืนป่า สร้างความชื้น เพิ่มโอกาสการทำฝน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีพระราชประสงค์และพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษาและต่อยอดเกี่ยวกับ “ศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจไว้อย่างมากมาย และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกื้อหนุนกัน โดยทรงเน้นเรื่องป่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ลูกหลานไทย ทรงมีความห่วงใยและทรงช่วยเหลือฟื้นฟูธรรมชาติ ดั่งพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันก็จะสร้างป่า” ส่งผลให้พสกนิกรชาวไทยและประชาชนในประเทศได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 71 พรรษา 28 กรกฎาคม 2566 นี้ จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ร่วมกันสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อประโยชน์ต่อพื้นที่ชุมชน ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน

ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ได้ประสานกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในการกำหนดพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นพื้นที่ดำเนินการ ใช้เมล็ดพันธุ์พืช 4 ชนิด ได้แก่ เมล็ดมะค่าโมง จำนวน 100 กิโลกรัม เมล็ดกระพี้จั่น จำนวน 1 กิโลกรัม เมล็ดแดง จำนวน 1 กิโลกรัม และเมล็ดพะยูง จำนวน 2 กิโลกรัม เริ่มโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ในเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2566 โดยใช้เครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร หลังเสร็จจากบินปฏิบัติการฝนหลวง หรือเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ หลังจากเสร็จภารกิจบินสำรวจพื้นที่ จากนั้นจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลผลการปฏิบัติการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชในแต่ละวัน แล้วจัดทำระบบฐานข้อมูล เพื่อวางแผนดำเนินการในช่วงระยะเวลาต่อไป.

ข่าวแนะนำ