คุมประพฤติประจวบฯ ติวเข้มอาสาสมัคร ฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน
วันที่ 7 กันยายน 2566 นายวสันต์ เภรีวิค ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการอาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดประจวบฯ โดยมี น.ส.วิลาสินี ชื่นโม หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และอำนวยการ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด กล่าวรายงาน และมี นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานอาสาสมัครคุมประพฤติจังหวัด นายบุญมา มหาพงษ์ ประธาน อ.ส.ค.อำเภอเมือง นายสมเกียรติ บุญเรือง ประธาน อ.ส.ค.อำเภอกุยบุรี คณะอาสาสมัครคุมประพฤติในพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย กุยบุรี เมืองฯ ทับสะแก บางสะพาน บางสะพานน้อย และเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติ เข้าร่วมที่ห้องโยธิน โรงแรมหาดทอง อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน และการให้คำปรึกษารายบุคคล ให้กับอาสาสมัครคุมประพฤติแต่ละพื้นที่ อีกทั้งเพื่อให้อาสาสมัครคุมประพฤติเข้าใจบทบาทในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 นอกจากนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้อาสาสมัครคุมประพฤติได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน และร่วมกำหนดทิศทาง นโยบายในการดูแลแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน โดยนายวสันต์ เภรีวิค ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติฯ เป็นวิทยากรกล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ “กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามประมวลกฎหมายยาเสพติด” และเรื่อง “การดูแลผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดและตาม พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ปี 2565” และยังได้วิทยากรจากกลุ่มงานจิตเวช รพ.ประจวบฯ นายชาญธาดา ชูแก้ว นักจิตวิทยาคลินิก และ น.ส.นนทภรณ์ รักศีลธรรม นักจิตวิทยาปฏิบัติการ มาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิต จิตเวชและผู้ใช้สารเสพติด
นายวสันต์ เภรีวิค กล่าวว่า กรมคุมประพฤติให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครคุมประพฤติ (อ.ส.ค.) ซึ่ง อ.ส.ค. ทุกท่าน คือผู้ที่จะมาร่วมปฏิบัติงานในการบังคับใช้กฎหมาย และการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดผู้ถูกคุมความประพฤติในชุมชนของท่าน และด้วยในช่วงเปลี่ยนผ่านของกฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 ที่กรมคุมประพฤติจะต้องดูแลผู้ติดยาเสพติด ผู้กระทำผิดที่มีลักษณะการกระทำผิดที่รุนแรง อุกฉกรรจ์เพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากอาสาสมัครคุมประพฤติ ในการช่วยสนับสนุนในการแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริง การติดตาม ควบคุม สอดส่อง และการเฝ้าระวัง ตลอดจนการจัดกิจกรรมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเหล่านี้ไม่ให้กระทำผิดซ้ำ หวนกลับไปใช้ยาเสพติด และสามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้
การจัดโครงการในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่นอกจากความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในการบูรณาการ ด้านการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน ระหว่างภาคีเครือข่ายอาสาสมัครคุมประพฤติกับหน่วยงานของรัฐแล้วนั้น ยังเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ บทบาท และทักษะในการปฏิบัติงานให้กับอาสาสมัครคุมประพฤติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับประชาชน และสังคมอีกประการหนึ่งด้วย
ด้าน น.ส.วิลาสินี ชื่นโม หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า ตามที่มีกฎหมายฉบับใหม่ จำนวน 2 ฉบับ ได้ประกาศใช้ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 และพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซํ้าในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ถือเป็นภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของกรมคุมประพฤติ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการแก้ไขฟื้นฟู ติดตาม ดูแล ช่วยเหลือ และสงเคราะห์ผู้กระทำผิด ทั้งในระบบคุมประพฤติและผู้กระทำผิดภายหลังปล่อย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน.
บุญมา ลิบลับ….รายงาน