พบปลาโรนันขนาดใหญ่ สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์เกยตื้นทะเลปราณ
วันที่ 11 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับการประสานจากนายพรหมสิงห์ สิงหเสนี อาสาสมัครอนุรักษ์พิทักษ์สิ่งแวดล้อมทะเลปราณบุรี ว่ามีชาวบ้านพบสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ เกยตื้นบริเวณชายหาดแหลมเกด ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีเจ้าหน้าที่ทีมป้องกันบรรเทาสารณภัย อบต.ปากน้ำปราณและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งช่วยกันจับปลาโรนัน ขนาดความยาวกว่าสองเมตร หนักประมาณ 80 กิโลกรัม ท่ามกลางชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่คอยลุ้นให้กำลังใจจนปล่อยกลับสู่ทะเลได้สำเร็จ
จากการสอบถามนายอัครพล วงศ์น้อย เลขานุการนายก อบต.ปากน้ำปราณ ผู้ให้การช่วยเหลือปลา เล่าว่าเวลาประมาณ 07.30 น. มีชาวบ้านแจ้งนายก อบต.ปากน้ำปราณ ว่าเจอปลาฉลามอยู่ชายหาด ออกสู่ทะเลไม่ได้ ติดตาวน ตั้งแต่บริเวณตาลสามต้น ตอนแรกคิดว่าเป็นฉลามธรรมดา พอเข้าไปใกล้ตัวถึงรู้ว่าเป็นปลาโรนัน จึงช่วยกันต้อนจากหน้าหาดตาลสามต้น มาถึงหน้าหาดกาสะลอง เพื่อจะยกข้ามสันทราย โรนันตัวนี้ยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม มีสภาพอิดโรยเพราะว่าน่าจะเกยตื้นตั้งแต่กลางคืน คงจะไล่กินพวกปลาอะไรอยู่ แล้วกลับข้ามไม่ทันน้ำลง เลยติดอยู่ที่ตาวน พอน้ำทะเลขึ้นเริ่มข้ามสันทราย จึงช่วยกันยกแล้วดันตัวออก ค่อนข้างจะยากเพราะตัวใหญ่และสะบัดแรง ต้องหาคนมา 4 คน ช่วยกันยกแล้วดันออกไป รู้สึกดีใจที่ช่วยชีวิตสัตว์หายากไว้ได้ ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
ปลาโรนัน เป็นปลากระดูกอ่อน มีรูปร่างคล้ายปลาฉลาม แต่มีส่วนหัวแบนแหลมเหมือนปลากระเบน เป็นรอยต่อของวิวัฒนาการจากปลาฉลามมาถึงปลากระเบน โดยวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคจูราสสิกตอนต้น พบในเขตน้ำอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก ทั้งทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปแอฟริกา, เอเชีย และออสเตรเลียทางตอนเหนือ
ปลาโรนัน มีปากอยู่บริเวณด้านล่างของลำตัวเหมือนปลากระเบน หรือปลาฉนาก อาศัยและว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ปกติปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มาก ออกลูกเป็นตัว โดยไข่พัฒนาอยู่ในลำตัวแม่ เป็นปลาที่พบได้น้อยและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์แล้วทุกชนิด ในน่านน้ำของไทยเคยพบอยู่บ้างในอดีต ทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทย และเคยถูกเบ็ดหรือแหของชาวประมงเกี่ยวติดขึ้นมาบ้าง แต่เพราะไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังนิยมตกเป็นเกมกีฬา ถูกพบเห็นบ้างโดยนักดำน้ำที่บริเวณหมู่เกาะสิมิลัน และรอบกองหินริเชริว ปลาโรนันขนาดโตเต็มที่ อาจมีขนาดได้ถึง 3 เมตร น้ำหนักกว่า 200 กิโลกรัม ที่พบในน่านน้ำไทย
ฝากพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ผู้ประกอบการเดินเรือและชาวประมงในพื้นที่ ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลและเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำ หรือการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อปลาชนิดนี้ รวมไปถึงสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด หากพบเจอสถานการณ์แบบนี้ให้แจ้งเบาะแสมาได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะประสานไปยังหน่วยงานในพื้นที่ เข้าตรวจสอบและดำเนินการต่อไป.
สมบัติ ลิมปจีระวงษ์….รายงาน