รองผู้ว่าฯ ประจวบฯ เปิดงานวันคนพิการสากล พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณ
วันที่ 19 มกราคม 2567 นายสินาทร โอ่เอี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดงานวันคนพิการสากลจังหวัดประจวบฯ ประจำปี 2566 มีนางสุพัตรา ไพฑูรย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดประจวบฯ กล่าวรายงาน และมี นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายก อบจ.ประจวบฯ กล่าวต้อนรับ มีนายยูซบ โต๊ะวัง ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัด นางพิศมัย แก้วแจ่มใส คลังจังหวัด นายเฉลิมพล อภัยรี รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด นายนนทวัฒน์ ตรีนันทวัน ผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ จ่าสิบตรีกมล นราภักดิ์ นายกสมาคมคนตาบอดจังหวัดประจวบฯ นายเกตุ พราหมณี ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงาน อาสาสมัครพัฒนาสังคมฯ จังหวัด (อพม.) ครูและนักเรียนผู้พิการทางโสต จากโรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ และจากศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดฯ ตลอดจนผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เข้าร่วม ณ บริเวณสนามฟุตซอล ภายในสนามกีฬากลางจังหวัด อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์
จากนั้น ประธานพิธีได้ลั่นฆ้องเปิดงาน พร้อมมอบช่อดอกไม้สด และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ แสดงความยินดีให้กับคนพิการต้นแบบ ประจำปี 2566 ได้แก่ จ่าสิบตรีกมล นราภักดิ์ ผู้พิการทางการเห็น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนตาบอดจังหวัดประจวบฯ โดยได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ในงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2566 ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นอกจากนี้ได้มอบประกาศเกียรติคุณ แสดงความยินดีให้กับองค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการระดับดีเยี่ยม ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลหัวหินบีชรีสอร์ท จำกัด และมอบประกาศเกียรติคุณศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและดีเด่น จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการคนพิการเทศบาลตำบลเขาน้อย ศูนย์บริการคนพิการ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ และศูนย์บริการคนพิการ อบต.ศาลาลัย และมอบเกียรติบัตรให้กับสถานประกอบการ/หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลที่ให้การสนับสนุนงานวันคนพิการสากลจังหวัดฯ
ต่อมาได้มีการมอบรถวีลแชร์ให้กับคนพิการทางการเคลื่อนไหว จำนวน 6 คัน โดยได้รับการสนับสนุนจากนายกิตติ และนางโชติกา เศรษฐศุภกูล 3 คัน จากนายสุกิจและนางสุรีพร เศรษฐศุภกูล 2 คัน จากนางจินตนา ชื่นจิตร์ 1 คัน และจับรางวัลพิเศษ 3 รางวัล เพื่อมอบให้แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการที่มาร่วมงาน โดยในงานมีการแสดงของนักเรียนจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดประจวบฯ การแสดงจากโรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ อ.บางสะพาน การแสดงดนตรีของผู้แสดงความสามารถ และการจับสลากของรางวัล ที่มีผู้มีจิตศรัทธาและผู้ใจบุญนำมาบริจาคของขวัญให้กับผู้พิการที่มาร่วมงาจำนวนมาก
จากนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดเดินตรวจเยี่ยมบูธประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ และบูธกิจกรรมจากภาคีและเครือข่ายต่างๆ อาทิ การบริการนวดแผนไทย โดยสมาคมคนตาบอดจังหวัดประจวบฯ บริการตัดผมฟรี โดยนายสมบัติ เนินทราย คนพิการทางการเคลื่อนไหว บูธกิจกรรมของชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัด และซุ้มอาหารจากหน่วยงานต่างๆ และคณะสงฆ์จากทุกอำเภอ ที่นำมาเลี้ยงให้กับผู้พิการที่เข้าร่วมงาน
นายสินาทร โอ่เอี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ด้วยสวัสดิการโดยรัฐ ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้วางรากฐานเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยการปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงการขึ้นทะเบียนได้อย่างรวดเร็ว อันจะส่งผลให้ได้รับสิทธิสวัสดิการโดยรัฐและความช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง
ในปีนี้รัฐบาลมุ่งมั่นสานต่อ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการดูแลคนพิการให้ได้รับโอกาสอย่างครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงสร้างสังคมในการอยู่ร่วมกันของคนพิการ ครอบครัวและทุกคนในสังคม โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทุกคนมีโอกาสและความเสมอภาคในทุกด้าน หรือเป็นสังคมแห่งโอกาส ด้วยการมีส่วนร่วม และบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ ในการสร้างโอกาสเพื่อส่งเสริมให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตบนพื้นฐานศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และส่งเสริมความเสมอภาค สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิทธิได้อย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซึ่งเป็นอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ส่งเสริมพิทักษ์สิทธิ และรับรองให้คนพิการมีหลักประกันในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป และปฏิญญาจาการ์ตา ว่าด้วยทศวรรษคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ.2566 – 2575 เพื่อมุ่งหวังให้คนพิการได้รับสิทธิ สวัสดิการอย่างทั่วถึง โอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับคนพิการต้นแบบ หน่วยงานองค์กรที่ได้รับรางวัลการสนับสนุนงานด้านคนพิการ ประจำปี 2566 ที่ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในสังคมอย่างเสมอภาค เท่าเทียม ขอขอบคุณองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน/องค์กรด้านคนพิการ ที่สนับสนุนของขวัญให้กับคนพิการด้วย
ด้านนางสุพัตรา ไพฑูรย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด กล่าวว่าเนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการโลก ว่าด้วยเรื่องคนพิการ และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม มีโอกาสได้แสดงศักยภาพให้สังคมประจักษ์ ซึ่งทำให้สังคมเกิดเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ ให้การยอมรับคนพิการในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม โดยในปี 2566 องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลัก คือ “รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพลิกฟื้นและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับคนพิการ เพื่อคนพิการ โดยคนพิการ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคม มารวมพลังกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านคนพิการให้เป็นโลกที่น่าอยู่และมีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,240,030 คน คิดเป็นร้อยละ 3.35 ของประชากรทั้งประเทศ และพบว่าคนพิการที่มีอายุมากว่า 60 ปี หรือคนพิการสูงอายุ มีจำนวนสูงถึง 1,296,689 คน หรือร้อยละ 57.89 ของจำนวนคนพิการทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ระบุว่าในปี 2571 สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และจากสถิติของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น พบแนวโน้มมีความเสี่ยงที่จะมีความพิการร่วมด้วย และเมื่อพิจารณาจากประเภทความพิการ พบว่าส่วนใหญ่พิการทางการเคลื่อนไหวทางร่างกาย 1.15 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 51.56% รองลงมา เป็นความพิการทางการได้ยิน/สื่อความหมาย 4 แสนคน และพิการทางการเห็น 1 แสนคน ตามลำดับ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรองรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของคนพิการในอนาคต รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือตามประเภทความพิการ จึงเร่งส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการได้โดยสะดวกและรวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบบริการคนพิการ ควบคู่ไปกับการสร้างเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนพิการและคนทั่วไปอย่างเข้าใจคนพิการ สามารถดำรงชีวิตอิสระ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และมีความเสมอภาคในสังคม มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้.
บุญมา ลิบลับ….รายงาน