ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยประจวบฯ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงฝ่าวิกฤติหมูกล่องทำราคาตกต่ำ
จากสถานการณ์ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ที่มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุ อาทิ เนื้อหมูเถื่อนนำเข้าและหมูกล่องที่ส่งขายหน้าเขียง ทำให้เขียงหมูลดปริมาณการซื้อหมูจากเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยไปแปรรูป และถูกกดราคาขายต่ำกว่าต้นทุน ทำให้เกษตรกรหลายรายจำใจต้องขายหมูให้เขียงที่มารับซื้อในราคาถูก ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่พบเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในพื้นที่หมู่ 6 บ้านเกตุเอน ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังปัญหาการเลี้ยงสุกรส่งขายเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงชีพ พบกับนายอดิศร กลิ่นสมหวัง หรือพี่เอฟ เกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ตำบลอ่าวน้อย และพาเยี่ยมชมฟาร์ม พบว่ามีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิด และปลูกพืชแบบผสมผสาน ยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยศาสตร์พระราชา เพื่อให้ครอบครัวสามารถประคับประคองดำเนินชีวิตต่อไปได้ เช่น การเลี้ยงหมูหลายสายพันธุ์ เพื่อนำข้อดีของแต่ละสายพันธุ์มาผสมพันธุ์กันให้เป็นหมูที่ดี มีคุณภาพ การเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงห่าน การปลูกพืชกล้วย มะพร้าว และพืชผักสวนครัวอื่นๆ เพื่อลดต้นทุนการซื้อให้มากที่สุด
นายอดิศร หรือพี่เอฟ เปิดเผยว่า ตนและครอบครัวประกอบอาชีพเลี้ยงหมู แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาหมูที่ขายมีราคาถูก เพราะต้นทุนของอาหารที่ซื้อมีแต่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อครบตามกำหนดจะขายออกไปให้กับเขียงหมูที่มารับซื้อ โดยขายยกตัวกิโลกรัมละ 60 บาท จากเดิมที่เคยขายกิโลกรัมละ 90 บาท ซึ่งยังถือว่ามีราคาดีและยังพออยู่ได้ หลังจากที่มีการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ รวมไปถึงการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน และมีหมูกล่องส่งขายให้กับหน้าเขียง ทำให้เขียงหมูลดปริมาณการซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อย และหากมาซื้อก็จะกดราคา ทำให้เกษตรกรต้องจำใจขาย เพราะไม่รู้ว่าจะนำไปขายที่ไหน อีกทั้งโรงฆ่าสัตว์ในประจวบฯ ก็ปิดไปเกือบหมดแล้ว ถ้าเกษตรกรจะเชือดหมูขายเอง ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ของหน่วยงานให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือแก้ปัญหาเกี่ยวกับราคาหมูให้เพิ่มสูงขึ้น หรือลดราคาต้นทุนอาหารหมูให้ต่ำลง
พี่เอฟ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตนแก้ปัญหาด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยปลูกกล้วย เลี้ยงแหน และมะพร้าว ปลูกพืชผสมผสาน และเลี้ยงสัตว์หลากหลาย โดยนำกล้วยที่ปลูกไว้มาหั่นผสมอาหารเลี้ยงหมู เพื่อลดต้นทุนการผลิต และยังนำกล้วย และแหน มาผสมกับอาหารนำไปเลี้ยงไก่ไข่ได้อีกด้วย ทำให้ลดต้นทุนลงได้มาก นอกจากนี้ยังเลี้ยงห่านแบบปล่อย ไว้คอยเฝ้าเล้าหมู เพื่อดักจับสัตว์มีพิษรอบๆ เล้าหมู เช่น งู และตะขาบ ไม่ให้เข้ามากัดทำร้ายหมูและลูกหมูที่เลี้ยงไว้ แถมยังร้อง หากมีคนแปลกหน้าเข้ามาที่บริเวณเล้าหมูด้วย นอกจากจับหมูขายเนื้อเป็นตัวแล้ว ยังขายลูกหมูให้กับผู้ที่ต้องการซื้อในราคาตัวละ 1,000 – 1,500 บาท ส่วนไก่ไข่ก็เลี้ยงแบบปล่อยให้ออกมากินหญ้า เพื่อลดต้นทุนอาหาร และทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนกว่าปกติ ถึงแม้ปริมาณไข่ไก่ที่ได้จะน้อยกว่าเลี้ยงแบบอัดอาหารซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าก็ตาม ปัจจุบันเก็บไข่ขายได้วันละ 3 แผงๆ ละ 100 บาท เป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว นอกจากนี้ยังให้ภรรยาเปิดร้านขายอาหารตามสั่ง ขายผัดไทยและขายลูกชิ้นในหมู่บ้านเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง โดยนำพืชผักสวนครัวที่ปลูกเอง ไปเป็นวัตถุดิบในร้านอาหารเพื่อลดต้นทุน ทำให้ปัจจุบันครอบครัวสามารถประคับประคองฝ่าวิกฤติราคาหมูตกต่ำไปได้ จากการเก็บรายได้ที่มาจากการทำอาชีพแบบผสมผสานกัน.
เอกภพ วงษ์ประเสริฐ….รายงาน