นายอำเภอชะอำปิดทองหลวงพ่อทัย เกจิดังเมืองเพชรบุรีในงานปิดทองประจำปีวัดไทรย้อย
วันที่ 11 มีนาคม 2567 นายแก้ว คงวงศ์ นายอำเภอชะอำ จ.เพชรบุรี เดินทางไปกราบสักการะปิดทองรูปเหมือน “หลวงพ่อทัย” พระครูวชิรคุณารักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดไทรย้อย อ.ชะอำ ในงานปิดทองประจำปีรูปเหมือน “หลวงพ่อทัย – หลวงพ่อม่วง” วัดไทรย้อย มีพระครูอากรวัชรธรรม เจ้าอาวาสวัดไทรย้อย ประธานชุมชนและคณะกรรมการจัดงานให้การต้อนรับ พร้อมกันนี้เจ้าอาวาสวัดไทรย้อย ได้นำนายอำเภอชะอำเยี่ยมชมพระอุโบสถไม้สักเก่า สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 และลอดใต้พระอุโบสถรวม 3 รอบ เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย โดยวัดจัดงานปิดทองประจำปี ตั้งแต่วันที่ 9 – 11 มีนาคม 2567 รวม 3 วัน ภายในงานมีการออกร้านค้าและมหรสพทุกค่ำคืน แต่ละคืนที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมากเที่ยวงานเป็นจำนวนมาก
หลวงพ่อทัย เดิมชื่อพริกไทย เกิดเมื่อ พ.ศ.2438 นามสกุลของท่าน คือหมื่นชำนาญป่า บ้านเดิมอยู่บ้านทับใต้ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ห้วยมงคล อ.หัวหิน หลวงพ่อเป็นพี่ชายของหลวงพ่อปลั่ง วัดห้วยมงคล เจ้าอาวาสองค์แรกผู้สร้างวัด ในวัยหนุ่ม หลวงพ่อรับราชการเป็นตำรวจ เมื่อเข้าสู่อายุครบบวช ก็ได้บวชกับหลวงพ่อนาค วัดหัวหิน สมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่ใหญ่โต ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง วัดในหัวหินมีแค่ในหัวหินที่เดียว เข้าใจว่าการรับราชการสมัยก่อน ใครพออ่านออกเขียนได้ ก็ให้รับราชการ เรื่องเบี้ยเลี้ยงเงินเดือนไม่ได้เป็นระบบเหมือนในสมัยนี้ จึงไม่ได้ทำให้เกิดความจูงใจมากนัก หลวงพ่อจึงบวชเรียนอยู่กับหลวงพ่อนาคที่วัดหัวหินอยู่นานหลายปี ประมาณ พ.ศ.2400 หมู่บ้านบางควาย เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานกันอยู่บ้าง ด้วยเป็นเส้นทางการค้าขายระหว่างเพชรบุรี – หัวหิน – ปราณบุรี จุดที่ตั้งของบ้านบางควาย มีน้ำจืด และเป็นช่องเขาที่ลงมาจากป่าทิศตะวันตกด้วย จึงเป็นจุดนัดพบสำคัญแห่งหนึ่งในเส้นทางสายนี้ จนกระทั่ง พ.ศ.2450 หมู่บ้านเริ่มมีคนมาอยู่มากขึ้น ชาวบ้านมักนิยมไปทำบุญ แต่วัดที่ใกล้เคียงในเวลานั้น มีแค่วัดโตนดหลวง กับวัดหัวหิน พอถึงวันพระใหญ่ ก็จะมีขบวนเกวียนชาวบ้านไปทำบุญกันที่วัดหัวหิน
นานวันเข้า ชาวบ้านจึงได้อาราธนากับหลวงพ่อนาค ว่าให้ส่งพระจากวัดหัวหิน มาอยู่ที่หมู่บ้านบางควายบ้าง จะได้อนุเคราะห์ญาติโยมในการทำบุญ เบื้องต้นหลวงพ่อนาคได้ส่งหลวงพ่อเล็ก กับพระอีก 3 – 4 รูปมาอยู่เป็นชุดแรก และในปี 2460 หลวงพ่อเล็ก มาอยู่ที่วัดบางควายไม่นาน ก็มรณภาพ หลวงพ่อทัยจึงได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน ในปี 2470 ได้จัดงานผูกพัทสีมาอุโบสถหลังแรก เป็นอุโบสถไม้สักทั้งหลัง อยู่ติดทะเลบางควายมานานกว่า 80 ปี ต่อมาปี 2504 ท่านได้สมณศักดิ์ที่พระครูวชิรคุณารักษ์ หลวงพ่อทัย ปกครองวัดไทรย้อยเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2471 ถึงปี 2519 ก็มรณภาพด้วยโรคตับแข็ง เมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายน 2519 สิริอายุ 80 ปี ตำแหน่งสุดท้ายท่านเป็นพระอุปัชฌาย์และเจ้าคณะตำบลชะอำ
หลวงพ่อทัยเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่งไม่เป็นรองใคร ไม่ว่าเรื่องปลัดขิก เสือมหาอำนาจ ตะกรุดหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย เป็นสุดยอดตะกรุด ที่ขนาดหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ให้ศิษย์ทหารเรือไปกราบและหามาใช้ ท่านออกเหรียญรุ่นเดียว คือรุ่น 1 ปี 2504 ท่านดังปลัดขิกมากกว่าไหนๆ หลวงพ่ออี๋บอกกับทหารเรือสัตหีบว่า “นอกจากฉันแล้ว ก็มีแต่หลวงพ่อทัยที่สู้ฉันได้” เคยมีลูกศิษย์ท่านประสบอุบัติเหตุอย่างหนัก รถพังยับเยินตายเกือบทั้งคัน ยกเว้นคนที่พกปลัดขิก ไม่ได้รับอันตรายบาดเจ็บใดๆ และมีคนพื้นที่เล่าให้ฟังว่า ตชด.ค่ายนเรศวร โดดร่มแล้วร่มไม่กาง เอ่ยชื่อท่านแล้วขอให้ท่านช่วย ตกลงมาไม่เป็นอะไรเลย ซึ่งของขลังของหลวงพ่อทัย คนในพื้นที่จะหวงมาก.