ปากน้ำปราณสืบสานประเพณี ส่งเคราะห์ทางทะเล ทำบุญให้บรรพบุรุษ

วันที่ 24 มิถุนายน 2566 นายพีรศักดิ์ จิวรรจนะโรดม นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำปราณ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการและพนักงานของเทศบาล ประชาชน นักเรียน ร่วมกิจกรรมประเพณีส่งเคราะห์ทางทะเล ทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ เป็นงานประเพณีเก่าแก่ของชาวอำเภอปราณบุรี ที่จัดขึ้นประจำทุกปี ที่ลานหน้าสำนักงานสมาคมประมงปราณบุรี ม.2 ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ตำบลปากน้ำปราณจัดประเพณีทำบุญส่งเคราะห์กันมาเป็นเวลายาวนาน ตามความเชื่อว่าเป็นการเซ่นไหว้ผีและเจ้ากรรมนายเวร เป็นการขอขมาแม่น้ำที่ใช้ในการเดินทาง ใช้เป็นการประกอบอาชีพและเป็นแหล่งอาหาร ทำให้ความเป็นอยู่และการทำมาหากินมีความเจริญรุ่งเรือง การจับปลาหรือสัตว์น้ำได้มากขึ้น และเป็นการสะเดาะเคราะห์เอาทุกข์โศกโรคภัยและสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ปล่อยไปกับสายน้ำ เพื่อที่จะได้มีสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิต มีโชคลาภ

การจัดงานแต่ละปี ขึ้นอยู่กับความสะดวกของชาวบ้านในชุมชน โดยจัดงานไม่ได้ยึดติดกับวัน การจัดงานจะมีประชาชน นักท่องเที่ยว นำอาหารคาว อาหารหวาน ดอกไม้รูป เทียน ตุ๊กตาดินเหนียวนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าสีสันสวยงาม และเงินนำไปใส่ลงในเรือจำลองที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งก่อนจะนำเรือไปลอยในทะเล ชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตร พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นสิริมงคล ขับไล่สิ่งอัปมงคล สิ่งเลวร้าย ก่อนเคลื่อนเรือออกไปจะมีการจุดประทัด แล้วจึงนำปล่อยเรือให้ล่องลอยไปในทะเล เพื่อนำเอาความทุกข์โศก เคราะห์ร้ายต่างๆ ออกไปกับทะเล

เรือที่สำหรับนำไปปล่อยในทะเล จะทำด้วยเป็นโครงไม้ไผ่และผ้าสีขาวมาทำเป็นเรือลำเล็ก สำหรับใส่สิ่งของต่างๆ เพื่อนำไปปล่อยในทะเล บางแห่งทำด้วยต้นกล้วยและกระดาษแก้วมาประกอบให้เหมือนเรือและตกแต่งให้สวยงาม มีตุ๊กตาดินเหนียว ซึ่งใช้เป็นตัวแทนผู้ที่มาทำบุญและบุคคลในครอบครัว เขียนชื่อตนเองหรือญาติมิตรลงกระดาษ ติดกับตัวตุ๊กตา รวมถึงข้าวสาร อาหารแห้ง พริก เกลือ เพื่อเป็นการอุทิศให้ผู้ที่เสียชีวิตในทะเลจากเหตุการณ์ต่างๆ ได้นำไปใช้ พร้อมอธิษฐานขอให้สิ่งชั่วร้ายต่างๆ พ้นไปและไปวางไว้ในเรือเพื่อเตรียมนำไปปล่อยลงทะเล

สำหรับความเชื่อของชาวบ้าน คือ 1.เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ เป็นความกตัญญูกตเวที ซึ่งหลักพุทธศาสนาสอนว่าเมื่อตายไปแล้วให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ 2.การขอขมาแม่น้ำ เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คือ แม่น้ำลำคลอง เพื่อดูแลรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ ใช้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งอาชีพ 3. ความเชื่อในโชคลาง ว่าเอาโรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์โศก สิ่งที่ไม่ดี ปล่อยไปกับสายน้ำ และการแก้บน เป็นความเชื่อทางโหราศาสตร์ ช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น

นายพีรศักดิ์ จิวรรจนะโรดม นายกเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ กล่าวว่า ประเพณีการส่งเรือเป็นกิจกรรมท้องถิ่นของตำบลปากน้ำปราณ เพื่อสืบสานประเพณี เทศบาลปากน้ำปราณได้ขึ้นทะเบียนเป็นประเพณีของชุมชนบ้านปากน้ำปราณ ต่อไปนี้จะอยู่คู่กับตำบลปากน้ำปราณ ไม่ใช่แค่คนปากน้ำปราณที่มาร่วมกิจกรรม คนปราณบุรี คนหัวหิน ก็มาทำบุญกันได้ ที่นี้จัดเป็นประจำทุกปีในวันที่ 22 – 23 มิถุนายนของทุกปี ประเพณีการส่งเรือเป็นประเพณีของคนทะเล ต.ปากน้ำปราณ วิถีชีวิตอยู่กับการประมง มีทั้งเด็กผู้หญิงแม่บ้านจะได้ทำบุญ สามีไปออกหาปลา ภรรยาก็จะมาทำบุญขอให้ส่วนบุญส่วนกุศล ส่งไปให้ปลา สัตว์มีชีวิตที่เราเคยจับ เหมือนเป็นการต่อบุญกันไปตามความเชื่อ นักเรียนโรงเรียนบ้านปากน้ำปราณก็มาร่วม โรงเรียนพิเศษก็มาร่วมกันที่นี่ทุกปี

ด้านนางกาญจนา อากาศเหลือง ผู้อำนวยการบ้านปากน้ำปราณ กล่าวว่า โรงเรียนได้นำนักเรียนชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มาเรียนรู้ประเพณีท้องถิ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมการส่งเรือ สะเดาะเคราะห์สิ่งต่างๆ ลงไปในเรือ ซึ่งในอุปกรณ์นั้นจะมีตุ๊กตาดินเหนียว ข้าวสาร อาหารแห้ง เมื่อทำพิธีต่างๆ แล้วก็นำไปใส่ไว้กับเรือ หลังจากนั้นจะเอาเรือไปลอยในทะเล โรงเรียนได้นำนักเรียนมาเรียนรู้ประเพณีต่างทุกๆ ปี เพื่อให้นักเรียนได้รู้ว่าประเพณีบ้านเรามีอะไรบ้าง ทำอะไรกันบ้าง เด็กๆ จะได้สืบสานส่งต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลานกันต่อไป.

สมบัติ ลิมปจีระวงษ์….รายงาน

ข่าวแนะนำ