กรมชลประทาน ร่วมกับ อบต.ไร่ใหม่ ส่งน้ำเติมบ่อช่วยเกษตรกรสามร้อยยอด
วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 กรมชลประทานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานชลประทานที่ 14 โดยนายกานต์ โพธิ์ดอกไม้ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี พร้อมด้วยนายไพโรจน์ มีประมูล นายก อบต.ไร่ใหม่ นำรถบรรทุกน้ำ นำน้ำมาเติมลงในบ่อน้ำเพื่อการเกษตร ที่บ่อกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของนางยุพา รุ่งเรืองจำเริญ ที่บ้านเลขที่ 668 หมู่ 4 ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร
นายกานต์ โพธิ์ดอกไม้ กล่าวว่าอธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้หน่วยงานของกรมชลประทาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น หน่วยงานของกระทรวงเกษตรในพื้นที่ เข้าสำรวจพื้นที่โดยร่วมกับนายก อบต. ต่างๆ สำรวจว่าที่ไหนประสบภัยแล้งบ้าง ถ้าพบว่าประสบภัยแล้ง จนพืชผลผลิตด้านเกษตรเสียหาย ให้สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ รถแม็คโคร เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งรถบรรทุกน้ำในเขตชลประทานเข้าช่วยเหลือ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือไปหลายแห่งแล้ว โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไปช่วยแปลงใหญ่มะม่วงในตำบลหนองตาแต้ม ไปช่วยที่สวนทุเรียนเขาจ้าว ตอนนี้กำลังช่วยแปลงใหญ่ขนุนในอำเภอสามร้อยยอด นอกจากพืชผลทางการเกษตรแล้ว เรื่องของน้ำอุปโภคบริโภค ก็ให้ความสำคัญ ตอนนี้หลายๆ จุดขาดแคลนน้ำแล้ว โดยเฉพาะประปาหมู่บ้าน ได้ระดมรถน้ำ นำน้ำไปเติมให้กับประปาหมู่บ้านหลายๆ แห่ง ทั้งในเขตอำเภอปราณบุรี สามร้อยยอดและกุยบุรี
ตอนนี้หลายๆ พื้นที่ได้รับผลกระทบ ขาดแคลนน้ำทั้งอุปโภค บริโภคและเพื่อการเกษตร ซึ่งน้ำในเขื่อนปราณบุรีขณะนี้เหลืออยู่ประมาณร้อยละ 17 แต่สามารถใช้น้ำได้แค่ร้อยละ 13 ถ้าใช้สำหรับอุปโภคบริโภคเพียงอย่างเดียว ก็เพียงพอใช้ตลอดทั้งปี ส่วนพืชผลการเกษตร จะสนับสนุนเฉพาะพันธุ์ไม้ยืนต้นไม่ให้ตาย และตอนนี้งดแผนการส่งน้ำแล้ว แต่จะเริ่มส่งน้ำอีกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม จากการประชุมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างๆ ในเขตของเขื่อนปราณบุรี ซึ่งประกอบไปด้วยอำเภอหัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี รวมถึงอำเภอเมืองบางส่วน กำหนดแผนการส่งน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้งปัจจุบัน โดยเริ่มแผนการส่งน้ำในวันที่ 24 กรกฎาคม แล้วจะส่งน้ำเดือนเว้นเดือน แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพฝนในช่วงเวลานั้นๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะต้องประเมินอีกครั้ง
ช่วงนี้อยากให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ เพราะว่าตอนนี้ยังต้องสำรองน้ำในเขื่อนของเราไว้ใช้สำหรับปีหน้า ซึ่งปีหน้าอาจจะมีแนวโน้มว่าฝนจะทิ้งช่วงแบบนี้อีก เพราะฉะนั้นเราจะพยายามบริหารจัดการน้ำ โดยเรียงลำดับความสำคัญ คือลำดับแรกเรื่องของการอุปโภคบริโภค 2. เรื่องการรักษาระบบนิเวศฯ 3. เรื่องสำรองน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคไว้สำหรับปีหน้า 4. เรื่องของอุตสาหกรรม และ 5.เรื่องการเกษตร ขอให้ทุกคนวางใจได้ว่ากรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำอย่างดีที่สุด และจ่ายน้ำทั่วถึงและเป็นธรรม
นางยุพา เกษตรกร กล่าวว่าตอนนี้ยังแล้งเหมือนเดิม พอฝนตั้งเค้ามา ลมก็พัดไปหมด ได้น้ำมาก็ดีหน่อย จะได้รดต้นขนุนที่เริ่มแตกใบอ่อน ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกรมชลประทานและนายกไพโรจน์
นายนิยม นาดี เกษตรกรอีกราย กล่าวว่า ดีใจมากและขอขอบคุณเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานทุกคน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดีใจเหมือนถูกหวยเลย ตอนนี้ขนุนที่สวนเริ่มแตกใบอ่อนแล้ว จากที่ทำท่าจะตาย เมื่อสองเดือนก่อนไม่เคยได้น้ำเลย ตอนนี้เริ่มบำรุงราก บำรุงต้น เพื่อรอผลผลิตที่จะออกมาในช่วงต่อไป
ด้านนายไพโรจน์ มีประมูล นายก อบต.ไร่ใหม่ กล่าวว่าในพื้นที่หมู่ 4 ต.ไร่ใหม่ เป็นพื้นที่ ที่ทำขนุนส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดประจวบฯ มีหลายร้อยไร่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทาง อบต. ได้ทำงานบูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน นำแม็คโครไปขุดลอกตามลำห้วยเส้นเนินพยอม – หนองจิก ทำให้เป็นบอม เป็นแอ่ง เพื่อให้มีน้ำขัง ชาวบ้านสามารถดูดน้ำส่งไปตามไร่ได้ ขณะที่บางส่วนใช้รถของกรมชลประทานมาดูดน้ำจากสระของผมเอง นำไปแจกจ่ายตามบ้านคนที่มีบ่อที่สามารถเก็บกักน้ำได้ ซึ่งตอนนี้ อบต.พยายามหาแหล่งน้ำเพื่อนำน้ำไปช่วยชาวบ้าน เราทำงานเชิงรุกและทำงานอย่างต่อเนื่อง พอรู้ว่าเริ่มแล้งก็รีบประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน สำนักงานโยธาฯ, สำนักงานชลประทานที่ 14, ปภ.เขต 4 และอำเภอสามร้อยยอด ร่วมกันหารือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง และร่วมลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำ วันที่ 14 มิถุนายน โครงการชลประทานจังหวัดประจวบฯ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่อ่างเก็บน้ำชุมนุมกระดาน หมู่ 4 เพื่อสูบน้ำไปยังฝายประชาอาสา และแหล่งน้ำใกล้เคียงจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน และวันที่ 19 มิถุนายน กรมชลประทานนำเครื่องจักรมาขุดลอกสระเก็บน้ำ (บ่อตาเดช) ขุดลอกดิน หิน ตะกอนทราย ขุดลอกลำห้วยเขาแกว ซึ่งมีพื้นที่แปลงขนุนของเกษตรกรเสียหาย 15 ราย รวมเนื้อที่ 28 ไร่ 1 งาน ทำให้เป็นบอม เป็นแอ่ง ชาวบ้านสามารถดูดน้ำไปรดขนุน มะม่วง สับปะรดได้ และอยากฝากพี่น้องตำบลไร่ใหม่ทุกท่าน ถ้ามีแหล่งน้ำแบ่งปันกันได้ ก็แบ่งปันกัน นอกจากจะคอยความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ เพราะบางทีอาจจะมาไม่ทัน ตอนนี้พื้นที่ในตำบลไร่ใหม่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง มีประมาณร้อยละ 80 แต่เริ่มมีฝนมา ต้นไม้เริ่มมีใบเขียวขึ้นมาบ้าง คาดว่าถ้าฝนไม่มาอีกสองเดือน คือเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ต้นไม้ตายอีกแน่นอน.
ภาพ/ข่าว : ฐิติชญา แสงสว่าง