เจ้าคณะภาค 15 วางศิลาฤกษ์อาคารประดิษฐานรูปเหมือน “หลวงพ่อยิด” อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองจอก
วันที่ 10 สิงหาคม 2566 พระธรรมวชิรสิทธาจารย์ เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดคลองวาฬ พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารประดิษฐานรูปเหมือนพระครูนิยุตธรรมสุนทร (ยิด จนฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองจอก พร้อมด้วยพระเทพวชิรสุธี เจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร พระราชรัตนวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดประจวบฯ (มหานิกาย) เจ้าอาวาสวัดกุยบุรี และพระสงฆ์สมณศักดิ์ ทั้ง 7 รูป นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอกุยบุรี ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากเข้าร่วมประกอบพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลที่วัดหนองจอก ต.ดอนยายหนู อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
พระครูวีรศาสน์สุนทร เจ้าอาวาสวัดหนองจอก ได้รฤกถึงคุณูปการของพระครูนิยุตธรรมสุนทร (ยิด จนฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองจอก ซึ่งเป็นผู้สร้างสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชนตำบลดอนยายหนู และพื้นที่ใกล้เคียง ทางวัดจึงดำริจัดสร้างรูปเหมือนพระครูนิยุตธรรมสุนทร (ยิด จนฺทสุวณฺโณ) หน้าตัก 9 เมตร พร้อมอาคารประดิษฐาน เพื่อให้ศิษย์ยานุศิษย์ ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาได้เข้ามากราบไว้และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
“หลวงพ่อยิด” มีนามเดิมว่า ยิด ศรีดอกบวบ เกิดเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2476 ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด เป็นบุตรของนายแก้วและนางพร้อย ศรีดอกบวบ มีพี่น้องร่วมสายโลหิต 7 คน ท่านเป็นคนที่ 4 อายุ 9 ขวบ บรรพชาที่วัดบ้านเกิด ฝึกปฏิบัติสมาธิ ศึกษาอักขระเลขยันต์ พระธรรมวินัย กระทั่งอายุ 14 ปีได้ลาสิกขาออกมาช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท มีหลวงปู่อินทร์ วัดยาง เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอธิการหวล ได้รับฉายาว่า จนฺทสุวณฺโณ และได้ศึกษาด้านวิชาอาคมเพิ่มเติม โดยฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อศุข วัดโตนดหลวง เพื่อศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติม และยังได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ ในหลายพื้นที่ รวมทั้งได้เดินเท้าเข้าไปในฝั่งประเทศเมียนมา เป็นต้น กระทั่งปี พ.ศ.2487 บิดาล้มป่วย จึงเดินทางกลับมาและลาสิกขาออกมาดูแล และได้แต่งงานมีครอบครัว ท้ายที่สุดเมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2518 จึงได้อุปสมบทอีกครั้งที่วัดเกาะหลัก โดยมีหลวงพ่อเปี่ยมเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา จนฺทสุวณฺโณเช่นเดิม ซึ่งขณะนั้นท่านอายุ 51 ปี เมื่ออุปสมบทแล้วก็เดินทางไปจำพรรษาเป็นพระลูกวัดที่วัดทุ่งน้อย อ.กุยบุรี ต่อมาชาวบ้านหนองจอก ต.ดอนยายหนู ทราบข่าว จึงยกที่ดินให้จำนวน 21 ไร่ 2 งาน เป็นพื้นที่ป่าเพื่อให้สร้างวัดขึ้น ได้รับความศรัทธาจากนายทหาร ตำรวจ ประชาชนเป็นจำนวนมากที่เข้ามาขอรับวัตถุมงคล อาทิ ตะกรุด พระเครื่อง ปลัดขิก เนื่องจากเชื่อกันว่าวัตถุมงคลของท่านมีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้าน เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
วัตรปฏิบัติของหลวงพ่อยิดจะสรงน้ำปีละครั้งเท่านั้น โดยอนุญาตให้ญาติโยมที่เลื่อมใสศรัทธาใช้แปรงทองเหลืองที่ใช้ขัดเหล็ก ขัดตามตัว แขนขาของท่าน แต่แปรงทองเหลืองไม่ได้ระคายผิวหนังแม้แต่น้อย หลังจากขัดตัวให้ท่านแล้ว หลวงพ่อยิดจะมอบวัตถุมงคลให้นำไปบูชากันอย่างทั่วถึง ส่วนปัจจัยที่ได้รับ นำไปสมทบทุนการศึกษาทำนุบำรุงศาสนา สังคมและชุมชน จนกลายเป็นประเพณีถือปฏิบัติของหลวงพ่อยิด แต่ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง จึงมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 สิริอายุ 71 ปี พรรษา 30 แต่ด้วยความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและชาวบ้านในพื้นที่ จึงได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพระครูนิยุตธรรมสุนทร (หลวงพ่อยิด จนฺทสุวณฺโณ) เพื่อบำรุง บูรณะและปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน เป็นทุนภัตตาหาร การศึกษาและพยาบาลพระภิกษุ สามเณร ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ส่งเสริมและสนับสนุนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์.