![](https://huahinsarn.com/wp-content/uploads/2024/11/444-1.jpg)
นายอำเภอหัวหิน ให้ความรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน กักเก็บน้ำหลากในหน้าฝน สร้างแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน เป็นประธานเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการส่งเสริมธนาคารน้ำใต้ดิน (Ground water Bank) มีนางอุษา พวงวลัยสิน นายกกิ่งกาชาดหัวหิน นายมนตรี มานิชพงษ์ ปลัดอำเภอหัวหิน นายเจนวิท ผลิศักดิ์ สาธารณสุขอำเภอหัวหิน หน่วยจงอางศึก ตชด. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่กว่า 70 คน เข้ารับการอบรมที่หมู่ 9 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ มีการนำเสนอการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนบ้านโปร่งสำโหรง การบรรยายเรื่องการส่งเสริมธนาคารน้ำใต้ดิน สาธิตการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน และร่วมกิจกรรม “ปลูกป่าต้นน้ำ”
ธนาคารน้ำใต้ดิน คือการใช้หลักการเติมน้ำไปเก็บในชั้นใต้ดิน โดยขุดบ่อในบริเวณพื้นที่น้ำท่วม น้ำขัง น้ำหลาก หรือจุดรวมของน้ำ เพื่อกักน้ำให้ซึมลงไปชั้นหิน เป็นการพักน้ำรวมไว้เหมือนธนาคาร อีกวิธีคือการใช้เศษไม้ ขวดแก้ว เศษอิฐ กรวด หิน หรือวัสดุที่มีในท้องถิ่น มาถมในบ่อเพื่อแทนที่น้ำให้น้ำล้นออกมาใช้ได้เร็วขึ้น เมื่อน้ำใต้ดินมีปริมาณมากพอ แนวความคิดนี้เป็นเสมือนการออม หรือกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้ง หรืออุ้มน้ำในยามน้ำหลาก นับเป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน
ธนาคารน้ำใต้ดินแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ระบบปิด คือการขุดหลุมเพื่อดึงน้ำฝนที่อยู่บนพื้นดินลงสู่ใต้ดิน ในระดับชั้นผิวดิน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ดินในพื้นที่โดยรอบ และระบบเปิด คือการขุดหลุมไปให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่เจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ เพื่อให้น้ำฝนเติมเข้าสู่ชั้นหินที่กักเก็บน้ำบาดาลได้โดยตรง เชื่อมต่อกับระบบน้ำใต้ดิน เพื่อสามารถขุดมาเป็นน้ำบาดาลมาใช้ในหน้าแล้งได้ โดยประโยชน์ที่ได้รับจากธนาคารน้ำใต้ดิน คือการก่อให้เกิดความชุ่มชื้นต่อหน้าดิน ประหยัดน้ำในการรดน้ำต้นไม้บริเวณใกล้เคียง ลดน้ำท่วมขังได้ในช่วงหน้าฝน สามารถกักน้ำส่วนเกินดังกล่าวให้มาเป็นความชุ่มชื้นในหน้าแล้ง และชุมชนยังสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่รอบๆ ผิวดินของธนาคารน้ำได้ปกติ โดยไม่จำต้องเสียพื้นที่เพื่อทำจุดกักเก็บแหล่งน้ำเพียงอย่างเดียว.