ชาวบ้านค้านเหมืองหินแกรนิต ยันไม่เอา วอนรัฐพิจารณาผลกระทบรอบด้าน

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ชาวบ้านในพื้นที่บ้านหนองไม้แก่น ต.เกาะหลัก อ.เมืองประจวบฯ กว่า 300 คน เดินทางมาร่วมคัดค้านโครงการทำเหมืองแร่หินแกรนิต ของบริษัทอธิภัทร จำกัด โดยต่างชูป้ายข้อความ”พวกเราไม่เอาเหมืองหิน” ก่อนการเข้าประชุมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่บริษัทฯ จัดขึ้นในโรงเรียนบ้านทุ่งเคล็ด ต.เกาะหลัก อ.เมืองประจวบฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงเข้าสังเกตการณ์ ขณะที่กลุ่มชาวบ้านตั้งโต๊ะเพื่อร่วมกันลงรายชื่อคัดค้านโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งให้หน่วยงานรัฐรับพิจารณา หนึ่งในนั้นมีพระเกษตร ปคุโณ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อจี้กง ที่เป็นกระแสโด่งดังในโซเชียล เป็นผู้ดูแลสำนักสงฆ์เขาหินเทิน แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดประจวบฯ เพราะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง หากมีการระเบิดชั้นหินเพื่อนำมาแปรรูป เนื่องจากลักษณะพื้นที่โดยรอบบริเวณสำนักสงฆ์อยู่ไม่ห่างจากแหล่งชุมชนที่จะเกิดเหมืองแร่ อาจเกิดแรงสั่นสะเทือนหากมีการระเบิดชั้นหิน หรือการนำเอาเครื่องจักรเข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่ เนื่องจากลักษณะชิ้นหินแต่ก่อนตั้งเกยกันไปมาอย่างเป็นธรรมชาติ หลายจุดอาจเกิดถล่มลงมา รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้ ขณะที่ชาวบ้านหลายครัวเรือนในพื้นที่บางราย ไม่ทราบว่าก่อนหน้ามีการขออนุญาตสำรวจแร่หินในพื้นที่หมู่ 7 บ้านหนองไม้แก่น โดยมี อบต.เกาะหลัก เซ็นอนุมัติให้ดำเนินการเข้าสำรวจโดยผ่านพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านเมื่อสองปีก่อน เข้าใจว่าเป็นการเข้าสำรวจแร่หินตามปกติ ต่อมามีการนำเอกสารจากหน่วยงานมาปิดประกาศไว้ที่บริเวณศาลาเอนกประสงค์ของชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นการทำโครงการเหมืองแร่ดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นว่าการกระทำของหน่วยงานรัฐบางรายนำเอกสารมาปิด มีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้บริษัทดังกล่าว โดยการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านส่วนน้อยที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือไม่ และหากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังคงดันโครงการเหมืองแร่ในพื้นที่หมู่ 7 บ้านหนองไม้แก่น โดยไม่ฟังเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ และเสียงคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่โดยรวม และหากบริษัทฯ ยังคงใช้เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่บางราย เป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยกภายในชุมชน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ อาจเกิดปัญหาขัดแย้งภายในชุมชนและครอบครัวโดยรวมเหมือนเช่นอดีต เคยมีโครงการจัดทำประชาพิจารณ์โรงงานกำจัดขยะในพื้นที่หมู่ 7 บ้านหนองไม้แก่นมาก่อนหน้านี้

นายกิตติ นามบุญลือ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เปิดเผยว่าจากการศึกษาโดยภาพรวม ทราบว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศนั้น ทรัพยากรแร่หินเพื่อการผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศและเพื่อการส่งออกยังคงเพียงพออีกหลายร้อยปี จึงไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการเปิดเหมืองแร่แห่งใหม่เพื่อนำมาแปรรูป และจากการให้อนุญาตบริษัทอธิภัทร จำกัด เข้าสำรวจแร่หินในพื้นที่กว่า 733 ไร่ 3 งาน 63 ตารางวา โดยมีอธิบดีกรมอุตสาหกรรมอนุญาตให้เข้าสำรวจเมื่อปี 2564 นั้น มีเงื่อนไขข้อตกลงหลังเข้าแผ้วถางผืนป่าบางส่วนเพื่อเจาะสำรวจหาแร่บางชนิดในพื้นที่บ้านหนองไม้แก่นนั้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องทำการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับสภาพเดิม โดยจะไม่มีการรุกล้ำลำห้วย ทางสาธารณะ และพื้นที่ทำกินทางการเกษตรของชาวบ้าน แต่ไม่มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว และไม่มีการแจ้งประสงค์เพื่อประโยชน์ใด ซึ่งชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นการเจาะสำรวจค่าแร่ตามปกติ จึงไม่ติดใจ หากการกระทำเช่นนี้ มองว่าบริษัทฯ ไม่เห็นความทุกข์ร้อนของชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ทั้งยังแอบทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น โดยไม่มีการประกาศแจ้งให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า มีเพียงปิดประกาศแค่สองวันก่อนการประชุม ดังนั้นโครงการเหมืองแร่ดังกล่าว อาจมีความไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทางจากภาครัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ความช่วยเหลือไปจนถึงกระบวนการออกประทานบัตรให้กับบริษัทอธิภัทร เพื่อดำเนินการทำเหมืองแร่หรือไม่ และหากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านนั้นดำเนินการได้จริง อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ทั้งวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนที่เคยเป็นอยู่อาจเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน นายกิตติกล่าว

ขณะที่บรรยากาศของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่บริเวณโรงเรียนบ้านทุ่งเคล็ด เป็นไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากมีชาวบ้านทั้งสองกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยชาวบ้านที่คัดค้านนำป้ายขึ้นมาแสดงจุดยืน “พวกเราไม่เอาเหมืองหิน” “พวกเราขออนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้เป็นสมบัติของชาติสืบต่อไป” ชาวบ้านบางรายกล่าวว่า ตนเป็นลูกเกิดในชุมชน หลังทราบข่าวจากผู้ใหญ่บ้านแจ้งให้ลูกบ้านเข้ารับฟังความคิดเห็นการทำโครงการเหมืองแร่ของบริษัทอธิภัทร จำกัด เพียงไม่กี่วัน เนื่องจากไม่ทราบข้อมูลมาก่อนว่าจะมีการเข้าทำเหมืองแร่ในถิ่นเกิดของตน จึงเดินทางมาเพื่อร่วมคัดค้าน โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยในสุขภาพคนในครอบครัวและชุมชน และมีผู้สูงอายุหลายคนอาศัยอยู่ หากการขนถ่ายแร่หินขาดการควบคุม ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการขนถ่ายแร่หิน เนื่องจากยังต้องใช้เส้นทางในชุมชน อาจส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในระยะยาว หากปล่อยให้เกิดโครงการเหมืองแร่ในพื้นที่ ชาวบ้านและชุมชนอาจได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน จึงอยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาผลได้ ผลเสียของชุมชนและประชาชนโดยรวม ก่อนจะออกประทานบัตรให้กับบริษัท อธิภัทร จำกัด อนุญาตให้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าว.

พิสิษฐ์ รื่นเกษม….รายงาน

ข่าวแนะนำ