มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด พัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.อภิเทพ แซ่โค้ว รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด เป็นประธานเปิดโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ประเภทประกาศนียบัตร (Non – Degree) ปี 2566 หลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่อาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วิทยาเขตเพชรบุรี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีอาจารย์นภาวรรณ จันทร์เดือน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกำกับดูแลและความสัมพันธ์ภาครัฐ ผศ.ดร.บำเพ็ญ ไมตรีโสภณ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์และสังคมศึกษา นางเบญจมาส อ่วมสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษาและองค์กรสัมพันธ์ ดร.วัลลภา ศรีทองพิมพ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วิทยาเขตหัวหิน – ชะอำ และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ผศ.ดร.บำเพ็ญ ไมตรีโสภณ กล่าวว่า หลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการด้านการเกษตรในยุคดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่จัดขึ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะมุ่งพัฒนาคนไทยในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้สามารถปรับตัวได้ในโลกยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยการจัดการเรียนการสอนนั้น จะมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ แต่จะมุ่งเน้นภาคปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่าผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำทักษะต่างๆ ที่ได้รับ ไปใช้ในการพัฒนากิจการของตนเองและของชุมชนได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ คณะรัฐประศาสนศาสตร์และสังคมศึกษา ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่น นำโดยนายสัตวแพทย์กรรัตน์ คุ้มกระ ปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี ศิษย์เก่าดีเด่นของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ฯ ปี 2022 คุณศิริวรรณ เครือเล็ก เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี คุณธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ เกษตรจังหวัดเพชรบุรี นายสัตวแพทย์สุขุม สนธิพันธ์ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์เพชรบุรี คุณสมพงษ์สิริ ภัทรสิริถาวร มาลัยฟาร์ม คุณสายัณต์ สิทธิโชคธรรม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเพชรบุรี คุณสมศักด์ สิทธิโชคธรรม แห่งสวนเพชรเกาะ เกษตรอินทรีย์วิถีไทย และคุณจีรประภา คงกระพันธ์ ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์และการออกแบบ ที่สามารถบริหารจัดการโรงงานปลาหวาน ช. จ้าวสมุทร ของตนเองจนสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้
“เป็นที่น่ายินดีว่าหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการเกษตรรุ่นที่ 1 นี้ จากเดิมที่วางแผนรับเพียง 20 คนเท่านั้น แต่มีผู้สนใจสมัครเข้ารับการอบรมถึง 36 คน ทำให้ต้องขออนุญาตเพิ่มจำนวนจากกระทรวงการอุดมศึกษา โดยกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีทั้งผู้บริหารโรงแรมที่พัก ฟาร์มสเตย์ โฮมสเตย์ เกษตรอินทรีย์ ผู้ผลิตผู้จำหน่ายชมพู่เพชร สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเพชรบุรี ผู้ส่งออกกล้วยหอมทอง กลุ่ม young smart farmers รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นของเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ จึงนับว่าเป็นกลุ่มผู้เรียนที่มีศักยภาพที่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าพวกเราตรงนี้จะช่วยกันพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้มีคุณภาพและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.บำเพ็ญ กล่าว.