อุทยานกุยบุรี สร้างโป่งเทียมเพิ่มแหล่งอาหารสัตว์ เนื่องในวันช้างไทย

วันที่ 13 มีนาคม 2567 นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมด้วยชุดเฉพาะกิจจงอางศึก ศูนย์ประสานงานโครงการตามพระราชประสงค์ฯ มทบ.15 จ.เพชรบุรี ฝ่ายปกครองอำเภอกุยบุรี ตชด.145 มูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ wwf แห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อบต.หาดขาม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าภาคประชาชน จำนวน 10 เครือข่าย และคณะครูนักเรียนในพื้นที่ ร่วมในพิธีทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์จำนวน 10 รูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ช้างป่าที่เสียชีวิตไปแล้ว เนื่องในวันช้างไทย ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.5 ห้วยลึก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี หมู่ 7 บ้านรวมไทย ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ พร้อมทั้งได้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเสวนาในหัวข้อทางออกของชุมชนคนช้างป่ากุยบุรี พิธีมอบทุนให้เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าภาคประชาชนเครือข่ายละ 5 หมื่นบาท จำนวน 10 เครือข่าย ก่อนร่วมกันสร้างโป่งเทียม เพื่อช่วยเพิ่มแร่ธาตุที่จำเป็นต่อสัตว์

วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็นวันช้างไทย รัฐบาลมีนโยบายต่อเนื่อง ในการให้ความสำคัญกับการดูแลช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ ทั้งในส่วนการอนุรักษ์ช้างป่าและการยกระดับมาตรฐานดูแลช้างเลี้ยงให้เป็นที่ยอมรับของสากล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนจัดโครงการอนุรักษ์ช้างทำให้แนวโน้มประชากรช้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลปัจจุบันช้างป่ามีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 4,013 – 4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง (ข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการสำรวจและการประเมินประชากรช้างป่าทั่วประเทศ ปี 2566) และภายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง ในแต่ละพื้นที่การกระจายสามารถพบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตารางกิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาช้างขาดแหล่งอาหารและน้ำ เนื่องจากป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของช้างถูกบุกรุกเพื่อเป็นที่ทำกิน ตลอดจนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้มีปัญหาช้างออกมาทำลายพืชผลเกษตรในชุมชน ซึ่งในกรณีนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการวางแนวทางทั้งการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ตลอดจนการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้สามารถเป็นแหล่งอาหารของช้าง ลดความขัดแย้งระหว่างช้างกับชุมชน.

ข่าวแนะนำ