ผู้ว่าฯ ประจวบฯ สั่งคุมเข้มคุณภาพ “ทุเรียน GI ป่าละอู” ก่อนถึงมือผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมนี้

วันที่ 4 เมษายน 2567 นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จังหวัด ครั้งที่ 2/2567 ที่ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดประจวบฯ มีผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน ท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง ทั้งนี้จังหวัดประจวบฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) โดยมีกระบวนการส่งเสริม คุ้มครอง ดูแลรักษามาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาดให้แก่สินค้า จึงมีคำสั่งที่ 8749/2566 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จังหวัดประจวบฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและพาณิชย์จังหวัดประจวบฯ เป็นคณะกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด การรับรองคำขอจดทะเบียน หรือคำขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัด รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงาน หรือคณะอนุกรรมการ ซึ่งสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้วมี 2 ชนิด ได้แก่ “ทุเรียนป่าละอู” และ “มะพร้าวทับสะแก” และสินค้าที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนอีก 2 ชนิด คือ “ทุเรียนตะนาวศรีคีรีขันธ์”และ “สับปะรดสยามโกลด์ประจวบคีรีขันธ์” สินค้าที่อยู่ระหว่างการจัดทำคำขอและกำลังจะยื่นขอจดทะเบียน 1 ชนิด คือ “มะม่วงแก้วพุสามร้อยยอด” ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้รับรองการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนป่าละอู ประจำปี 2567 จำนวนทั้งสิ้น 226 ราย (เกษตรกร 274 ราย) โดยเลขาฯ จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน กล่าวว่าทุเรียนป่าละอู เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองพระราชทาน ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงพระราชทานให้แก่ตำรวจตระเวนชายแดนนำไปปลูกที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ครั้ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนอานันท์ ที่บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2509 จนกลายเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกกันในพื้นที่ เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ป่าละอูที่มีความพิเศษบนพื้นที่สูง สภาพอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของดิน อีกทั้งเป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ จึงทำให้ได้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพ มีรสหวาน เนื้อหนา เหนียว เนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้ง มีความมันมากกว่าความหวาน เม็ดลีบเล็ก กลิ่นไม่รุนแรง ได้รับการยอมรับจากผู้โปรดปรานทุเรียนว่ามีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับเครื่องหมายสินค้า GI (Geographical Indication) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 แสดงถึงแหล่งเพาะปลูกที่เจาะจงแค่ที่ใดที่หนึ่ง เป็นสินค้าเด่นของชุมชน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร โดยผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมาย GI ได้แก่เกษตรกรผู้ผลิตในพื้นที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งได้ร่วมกันรักษาคุณภาพมาตรฐานชื่อเสียงและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นนี้เอาไว้

“ขณะนี้ทุเรียนป่าละอูซึ่งติดดอกมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 และจะเข้าสู่ตลาดได้ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม เป็นช่วงเฝ้าระวังปริมาณการให้น้ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว แดดแรง และสภาวะอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำดูแลต้นทุเรียนมากขึ้น บางส่วนไม่ติดดอก/ร่วง ในปีนี้ คาดการณ์ผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณ 2,700 ไร่ จากทั้งหมด 4,000 กว่าไร่ (รวมพื้นที่ GI) โดยช่วงต้นฤดูปลายเดือนพฤษภาคม จะออกประมาณ 10% ช่วงกลางฤดู กลางเดือนมิถุนายน ประมาณ 40% เดือนกรกฎาคม ประมาณ 40% และช่วงปลายฤดูประมาณ 10% คาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 800 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน ในภาพรวมอาจได้น้อยกว่าปีที่แล้ว” นายพลกฤต กล่าวตอนท้าย.

ข่าวแนะนำ