ประมงประจวบฯ นำชาวบ้านกำจัดปลาหมอคางดำ ในคลองตะเกียบ
วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ว่าที่ ร.ต.สมนึก พรหมศร ประมงจังหวัดประจวบฯ พร้อมด้วย นายกิติศักดิ์ บัวลาด ประมงอำเภอหัวหิน นายวินัย วรรณสุก ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กหัวดอน นำชาวบ้านชาวประมงพร้อมอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ ลงจับปลาหมอคางดำ ในคลองพระราชดำริ (คลองระบายน้ำตะเกียบ) ตลอดแนวจรดด้านข้างวัดเขาไกรลาศ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ เพื่อตรวจสอบปริมาณปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ และเพื่อเตรียมวางแผนในการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยวันนี้ชาวบ้านสามารถจับปลาหมอคางดำได้เกือบ 100 กิโลกรัม ส่วนใหญ่จะนำไปประกอบอาหาร ทำเป็นปลาแห้ง ปลาแดดเดียว ต่อไป
ว่าที่ ร.ต.สมนึก พรหมศร กล่าวว่า วันนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างชาวบ้าน ชาวประมง และหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกันจับปลาหมอคางดำ เพื่อตรวจสอบความชุกชุม อย่างที่ทราบกันดีว่าขณะนี้มีการระบาดของปลาหมอคางดำ หลายๆ แห่ง ในจังหวัดประจวบฯ แต่ปริมาณความชุกชุมไม่มากเท่าที่ปรากฎเป็นข่าว มีพบในอำเภอหัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี และอำเภอเมือง บางพื้นที่มีเบาบาง แต่ก็ต้องเอาขึ้นมาทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ขยายต่อ ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทางกรมประมงก็มีแผนดำเนินการในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ย การทำน้ำหมักชีวภาพ หรือว่าทำอาหารในครัวเรือนเพื่อบริโภค หรือสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ที่ประจวบฯ ไม่มีโรงงานปลาป่นในพื้นที่ หน้าที่ของผมคือเชื่อมโยงให้มีกลุ่มผู้รับซื้อปลาเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อที่จะได้นำปลาส่งไปขายยให้โรงงานปลาป่น หรือบางแห่งที่เขาใช้ประโยชน์ในปริมาณมากๆ น้ำหนักเป็นตันขึ้นไป ถ้าเป็นปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ก็ทำอาหารได้เลย ซึ่งกรมประมงยืนยันว่าสามารถกินปลาหมอคางดำได้ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
“ขณะนี้มีการประชุมวางแผนทุกอำเภอพร้อมกับงานยุทธศาสตร์จังหวัด กระทรวง และผู้นำชุมชน ผมในฐานะประมงจังหวัด ได้เปิดโครงการปฏิบัติการแก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำของจังหวัดประจวบฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็ทำมาเดือนละ 3 ครั้ง แต่ความถี่ยังน้อยอยู่ เมื่อมีแรงกระตุ้นขึ้นมา หรือสร้างการรับรู้ขึ้น ประชาชนทราบโดยทั่วกัน จึงมาช่วยที่จะจับเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำมากขึ้น ก็ดีใจที่มีประชาชนมาช่วยเหลือ ช่วยกันกำจัดปลาหมอคางดำออกไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ” ว่าที่ ร.ต.สมนึก กล่าว.