เทศบาลหัวหิน คว้ารางวัลชนะเลิศระดับทอง (ดีเด่น) ทีมผู้ก่อการดีป้องกันการจมน้ำ ระดับประเทศ
วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาสานพลังเครือข่ายป้องกันการจมน้ำประเทศไทย ในวันป้องกันการจมน้ำโลก พร้อมมอบรางวัลทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ (Merit Maker Plus) โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค คุณมาร์ค แลนดรี ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และผู้บริหารทุกภาคส่วนเข้าร่วม ที่เดอะพอร์ทอลบอลรูม อิมแพ็คเมืองทองธานี จ.นนทบุรี
โอกาสนี้ น.ส.ไพลิน กองพันธ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน พร้อมทีมผู้ก่อการดีเทศบาลเมืองหัวหิน เข้ารับโล่รางวัลชนะเลิศระดับทอง (ดีเด่น) ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ ระดับประเทศ ประจำปี 2566 จากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาเทศบาลเมืองหัวหิน ได้ดำเนินการป้องการจมน้ำ ทีมผู้ก่อการดี เทศบาลเมืองหัวหิน ตั้งแต่ปี 2559 มาอย่างต่อเนื่อง และได้รับรางวัลทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ (Merit Maker) ระดับประเทศ ประเภทรางวัลชนะเลิศระดับทอง (ดีเด่น) ผลการดำเนินงานปี 2564 และรางวัลทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ (Merit Maker Plus) ระดับประเทศ ประเภทรางวัลชนะเลิศระดับทอง (ดีเด่น) จากผลการดำเนินงานปี 2566
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติและสมัชชาอนามัยโลก เห็นพ้องต้องกันว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5 – 14 ปี จึงมีมติให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกดำเนินงานป้องกันการจมน้ำโดยเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยได้ดำเนินงานเพื่อลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ผู้ก่อการดี หรือเมอร์ริท เมคเกอร์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของจิตอาสาในชุมชน ช่วยส่งเสริมความรู้ให้กับสมาชิกในชุมชน ตั้งแต่สอนว่ายน้ำ ไปจนถึงการทำ CPR โดยทีมผู้ก่อการดีกลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก และถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำ จากประมาณ 1,500 คน ในปี 2548 เหลือประมาณ 615 คน ในปีปัจจุบัน “แม้ว่าจำนวนจะลดลงกว่าร้อยละ 60 แต่ตัวเลขนี้ยังคงสูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 290 คนต่อปี ที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นผมจึงมีความยินดีที่ได้มาพบปะทุกท่าน เพื่อขอบคุณที่ร่วมทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจมน้ำ ตามสโลแกนวันป้องกันการจมน้ำโลก“จมน้ำง่ายกว่าที่คิด หนึ่งชีวิตไม่ควรสูญเสีย” โดยการมอบรางวัลการประเมินทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ จะเป็นขวัญกำลังใจให้กับทุกท่าน และขอบคุณที่ร่วมทำงานจิตอาสา เพื่อยกระดับการป้องกันการจมน้ำให้ได้ตามค่าเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนต่อไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว.