สสส. สร้างแรงบันดาลใจ ยกย่องเชิดชูชุมชนคนสู้เหล้า/ชุมชนแหล่งเรียนรู้
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 นายปรีดา สุขใจ ปลัดจังหวัดประจวบศีรีขันธ์ เป็นประธานประชุมและมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติชุมชนคนสู้เหล้า, ชุมชนแหล่งเรียนรู้ ในเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องในการปกป้องและลดผลกระทบด้านปัจจัยเสี่ยงเด็ก เยาวชนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ห้องประชุมทองนพคุณ โรงแรมประจวบแกรนด์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีชันธ์ มี น.ส.ธนพร บางบัวงาม ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดประจวบฯ (สคล.สสส.) นายสุวรรณ ทองกลอยประธานอนุกรรมการพิจารณาคดีประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะครูตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนประจวบวิทยาลัยกิตติคุณ พร้อมด้วยประธานเครือข่ายชุมชนต่างๆ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และผู้รับมอบใบประกาศเชิดชูเกียรติชุมชนคนสู้เหล้า/ชุมชนแหล่งเรียนรู้ เข้าร่วมเสนากว่า 100 คน
น.ส.ธนพร บางบัวงาม กล่าวว่า โครงการในวันนี้เป็นเวทียกย่องเชิดชูชุมชนคนสู้เหล้า และชุมชนแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 จากที่เคยดำเนินการเรื่องคนต้นแบบ งดเหล้าเข้าพรรษาอย่างเดียว ต่อเนื่องมาเป็นชุมชนคนสู้เหล้า งดเหล้าเข้าพรรษา แล้วมีชุมชนแหล่งเรียนรู้ ที่เป็นนามธรรมและกลายเป็นรูปธรรม ส่วนโครงการในวันนี้ คือแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญมาก โดยใช้ประเด็นความห่วงใยของเยาวชน คือร่วมรณรงค์และให้การจัดงานบุญประเพณีและเทศกาลต่างๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปลอดเหล้า ปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุความสูญเสีย ลดปัญหาทะเลาะวิวาท อาชญากรรมและความรุนแรงในครอบครัว และไม่ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ กิจกรรมส่งเสริมการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและชุมชน การร่วมส่งเสริมกิจกรรมที่แสดงถึงคุณค่าทางประเพณีวัฒนธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กเยาวชนและครอบครัว ร่วมรณรงค์ชุมชนคนสู้เหล้า งดเหล้าเข้าพรรษา ให้ชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ช่วยชม เชียร์ ลดละเลิก และควบคุมบังคับใช้กฎหมายกฎกติกาชุมชน ลดความรุนแรง ลดอุบัติเหตุ ลดการเจ็บป่วยและส่งเสริมครอบครัวให้เข้มแข็ง มีความสุข การส่งเสริมสนับสนุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเสพติดต่างๆ ที่สำคัญสถานศึกษา การเปิดพื้นที่กิจกรรมชุมชนร่วมสมัย สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพในอนาคตอันนี้ เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงานของปีนี้
ด้านนายสุวรรณ ทองกลอย ทนายที่ปรึกษาผู้ประสานงาน สสส. กล่าวว่ากฎหมายยาเสพติดตอนนี้แก้ไขใหม่ ประกาศใช้แทนกฎหมายเก่า พระราชบัญญัติ 10 ปี 2522 ต่อมาได้พัฒนาและแก้ไขใหม่เป็นประมวลกฎหมายยาเสพติดปี 2564 ซึ่งเนื้อหาสาระก็ใกล้เคียงกัน แต่ว่าลักษณะของจำนวนยาเสพติดในการครอบครองนั้น ในกฎหมายเก่า พ.ศ.2522 บัญญัติไว้ว่าถ้าใครครอบครองเกิน 15 เม็ด ให้ถือว่าครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย แต่ใน พ.ศ. 2564 พฤติการณ์ในการจำหน่ายนั้นจะต้องให้ตำรวจหรือเจ้าพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ จะต้องเป็นคนนำสืบว่าจำเลยทำความผิด กลายเป็นว่าต่อไปต้องนำสืบ เพราะในการจำหน่ายจะต้องมีพฤติการณ์ในการค้าขาย เช่น มีการขาย มีการซื้อ หรือต้องมีการล่อซื้อ แต่เพิ่มโทษจากกฎหมายเก่า ต่อมาครอบครองเพื่อจำหน่าย ก็จะมีความผิดมูลฐานหนักกว่าเดิม หรือเหมือนกัน ใช้มาตรา 145 ครอบครองธรรมดา ตั้งแต่ 0 ปี ถึง 2 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000 ถึง 1,000,000 บาท แต่ถ้าเข้าวรรค 2 คือเพื่อการขายและมีอาวุธปืนด้วย พวกนี้อัตราโทษหนักขึ้นไปอีก ต่อไปถ้าเป็นผู้ค้าหรือเป็นผู้ผลิต หรือผู้ค้ารายใหญ่ อาจจะโดนถึงประหารชีวิต ปรับตั้งแต่ 1,000,000 ถึง 5,000,000 บาท กฎหมายเดิม เมื่อมีการกักขังแทนค่าปรับแล้ว ออกมาถือว่าจบ แต่ปัจจุบันถ้าเราถูกปรับ ค่าปรับนี้จะเหมือนประมวลกฎหมายแพ่ง คือการยึดทรัพย์ มีอายุความ 10 ปี ถ้าบุคคลนั้นพ้นโทษออกมาแล้วยังไม่ได้ชำระค่าปรับ หากมีทรัพย์สินใด ก็สามารถยึดเข้ากองทุนได้ อันนี้คือความแตกต่างกฎหมายเก่าปี 2522 กับกฎหมายใหม่ ปี 2564 ทนายสุวรรณ ทองกลอยกล่าว.
พิสิษฐ์ รื่นเกษม…..รายงาน