อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทำโป่งเทียมเพิ่มแหล่งน้ำในวันช้างไทย

วันที่ 13 มีนาคม 2568 อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบฯ โดยนายอนุชาติ อาจหาญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเจ้าหน้าที่อุทยาน ร่วมกับ อบต.หาดขาม พร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมวันช้างไทย โดยมีนายอร่าม ญาณแก้ว นายอำเภอกุยบุรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ นายพิศิษฐ์ เจริญสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 300 คน ณ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.5 ห้วยลึก โดยในช่วงเช้ามีพิธีบวงสรวง ไหว้ศาลช้างบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.1 ป่ายาง จากนั้นได้ร่วมกันเป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กำจัดวัชพืช เสริมโป่งเทียม และทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป อุทิศส่วนกุศลให้ช้างป่า ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อ “ทางออกของชุมชน คน ช้างป่ากุยบุรี”โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.มัทนา ศรีกระจ่าง ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าในพื้นที่ นายพิชิต มีศักดิ์ รองนายก อบต.หาดขาม น.ส.อารีย์ คงมั่น ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้านรวมไทย นายสุรวัชร เปลี่ยนปราณ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ และนายอนุชาติ อาจหาญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบรี ร่วมเสวนาเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และยังมีกิจกรรมประกวดวาดภาพระบายสีของเด็กนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ตำบลหาดขาม ที่ อบต.หาดขาม สนับสนุนเงินรางวัล รวมทั้งสิ้น 18,300 บาท ปิดท้ายด้วยการมอบเงินสนับสนุนเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าจำนวน 10 เครือข่ายๆ ละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 500,000 บาท

วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็นวันช้างไทย รัฐบาลมีนโยบายโดยต่อเนื่องในการให้ความสำคัญกับการดูแลช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ ทั้งในส่วนการอนุรักษ์ช้างป่าและการยกระดับมาตรฐานดูแลช้างเลี้ยง ให้เป็นที่ยอมรับของสากล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับหน่วยงาน ทั้งรัฐและเอกชนดำเนินการโครงการอนุรักษ์ช้าง ทำให้แนวโน้มประชากรช้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันช้างป่ามีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 4,013 – 4,422 ตัวในพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง (ข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการสำรวจและการประเมินประชากรช้างป่าทั่วประเทศ ปี 2566) และภายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง ในแต่ละพื้นที่การกระจายสามารถพบช้างป่าได้ ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว โดยกลุ่มป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ประชากรช้างป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว – น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน อย่างไรก็ตาม การสำรวจติดตามและศึกษาประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาช้างขาดแหล่งอาหารและน้ำ เนื่องจากป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของช้างถูกบุกรุก เพื่อเป็นที่ทำกิน ตลอดจนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้มีปัญหาช้างออกมาทำลายพืชผลเกษตรในชุมชน ซึ่งรัฐบาลได้กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วางแนวทางทั้งการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ตลอดจนการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ให้สามารถเป็นแหล่งอาหารของช้าง ลดความขัดแย้งระหว่างช้างกับชุมชน.

ข่าวแนะนำ