เปิดตัวโครงการ Cyber Booster ถึงเวลาฉีดวัคซีน#สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์ 5 หน่วยงานร่วมผนึกกำลัง ป้องกันประชาชนจากภัยร้ายออนไลน์

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ,รายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Cyber Booster #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์ ในรายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 

โครงการที่ผลิตและเผยแพร่สื่อเตือนภัยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสู้ภัยไซเบอร์ ซึ่งมีจุดริเริ่มมาจากสถานการณ์สังคมไทยปัจจุบันที่ต้องเผชิญปัญหาที่มาจากภัยไซเบอร์ การแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ปลอมที่แอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการ และ การลักลอบใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายนำมาข่มขู่ให้เกิดความกลัวและยอมทำตามที่มิจฉาชีพต้องการ        

ซึ่งจากปัญหาและผลกระทบดังกล่าว โครงการ Cyber Booster จะเข้ามาสร้างการตระหนักรู้ในภัยไซเบอร์ในช่องทางออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจและเสริมภูมิคุ้มกันต่อมิจฉาชีพแก่ประชาชน รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ช่องทางการช่วยเหลือจากภาครัฐให้ประชาชนทราบผ่านชุดคลิปวิดีโอจำนวน 17 เรื่องที่จัดทำขึ้น  

นำโดย พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ หรือ สารวัตรแจ๊ะ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (IDMB)ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ผู้กองวิน และ หมวดแพนด้า ร.ต.ท.หญิง กานต์สินี สิทธิโชติพงศ์ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) และ ทีมกากีนั้งทีวี พ.ต.ต.พากฤต กฤตยพงษ์,  ร.ต.อ.พิชพงศ์ โสมกุล,  ร.ต.อ.หญิง พิชญากร สุขทวี ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (PCT) พร้อมทั้ง คุณธิดารัตน์ อนันตรกิตติ ผู้ดำเนินรายการ สถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ความจริงแล้วคนไทยมีความตระหนักในเรื่องการใช้สื่อมานาน รู้ว่าสื่อจะเป็นช่องทางที่สร้างประโยชน์และทำให้เกิดความเสียหาย ต้องยอมรับว่าวันนี้ทุกคนอยู่กับเครื่องมือสื่อสารมากกว่าสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตแต่แม้จะมีการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่ให้ระวังมิจฉาชีพอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังพบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ถูกหลอก ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนว่าไม่ใช่ความปกติ ฉะนั้นสังคมไทยถึงเวลาที่จะต้องมาร่วมกันคิดหาทาง และยกระดับการป้องกัน

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีหน้าที่รณรงค์ส่งเสริมให้สื่อสร้างสิ่งดี ๆ เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้ประชาชนผ่านการจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่จะต้องเพิ่มความเข้มงวดไปพร้อมกับ หน่วยงานประชาสัมพันธ์ที่จะต้องช่วยกันรณรงค์ต่อเนื่อง

“อย่าคิดว่าเรื่องอาชญากรรมออนไลน์เป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง วันนี้เรามาเริ่มจุดประกายเชิญชวนให้ทุกคนการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์” ดร.ธนกร กล่าว

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (IDMB) ระบุว่า ที่ผ่านมาตำรวจพยายามทำหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อสู้กับมิจฉาชีพ แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ามิจฉาชีพเองมีพัฒนาการต่อไปไม่หยุดยั้ง เปรียบเหมือนตำรวจที่อยู่ในสงครามสู้กับมิจฉาชีพ 5G 

และยิ่งปัจจุบันความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการปราบปรามเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะคนร้ายพยายามใช้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือประเทศที่ 3 เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ เช่น กลุ่มคนร้ายประเทศ A ใช้ฐานที่ตั้งประเทศ B โดยมีลูกทีมเป็นคนประเทศ C  

แต่ในวันนี้ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ Cyber Booster ทำให้เรามีความหวัง ทุกคนในที่นี้และที่กำลังจะร่วมมือกันในอนาคต กำลังสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันร่วมกัน

“คนไทยที่ถูกหลอกส่วนมากจะอายและไม่กล้าออกมาเปิดเผยตัว ในฐานะตำรวจขอให้ผู้ที่เสียหายเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่ออกมาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ออกมาแจ้งความเพื่อเป็นตัวอย่างและภูมิคุ้มกันให้คนอื่น ๆ” พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าว

ขณะที่ คุณนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  กล่าวว่า เทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนร้ายเองก็ร่วมเรียนรู้ไปกับข่าวสาร สิ่งสำคัญที่เราต้องทำในฐานะสื่อคือ ต้องเรียนรู้ก้าวไปข้างหน้าและพยายามกระจายข้อมูลวิธีการและรูปแบบของคนร้ายไปสู่ภาคประชาชน 

ในสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ที่ขณะนี้มีสมาชิกกว่า 50 สื่อชั้นนำ ทั้งสื่อใหม่และสื่อดั้งเดิม ทุกหน่วยพร้อมที่จะกระจายข้อมูล  ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม

“ยุคนี้เราปราบปรามอย่างเดียวไม่ได้ การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกัน” คุณนันทสิทธิ์ กล่าว

ด้านคุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า บทบาทของภาคเอกชนในการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ยังสามารถขยายและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีก แม้ว่าขณะนี้หลายภาคส่วนจะพยายามสร้างความตระหนักรู้แล้ว แต่เนื้อหาที่เป็นข่าวภัยไซเบอร์ยังคงต้องถูกนำเสนอในหลากหลายช่องทางและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้รับสารมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนใช้งานประจำ 

“Tellscore มองว่าการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ให้ข้อมูลในช่องทางที่เข้าถึงผู้คนได้อย่างใกล้ชิด สามารถสร้างอิทธิพลให้คนเข้าใจและเห็นความสำคัญของภัยไซเบอร์ได้มากขึ้น” คุณสุวิตา กล่าว.

ข่าวแนะนำ