
สภาการสื่อมวลชนฯ จัดอบรมครูประจวบฯ – เพชรบุรี ช่วยเด็กรู้เท่าทันสื่อ กระตุ้นการวิเคราะห์ผ่านการอ่านหนังสือพิมพ์
วันที่ 22 มกราคม 2568 ที่ห้องประชุม โรงแรมจีหัวหิน รีสอร์ทแอนด์มอลล์ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ มูลนิธิสภาการสื่อมวลชน และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หนังสือพิมพ์หัวหินสาร จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการสร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์ โดยมีนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิดสัมมนา มีคณะครูระดับชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ ในอำเภอหัวหิน 15 โรงเรียน และในจังหวัดเพชรบุรี 10 โรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรม
ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ การบรรยาย‘รู้จักหนังสือพิมพ์’โดย รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการกล่าวแนะนำ “หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์หัวหินสาร” โดยนายชลวิวัฒน์ โฆษิตชัยวัฒน์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์หัวหินสาร การกล่าวแนะนำ “หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์เพชรภูมิ” โดยนายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลศิลป์โสภณ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ กิจกรรมสัปดาห์สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์ รวมถึงการเวิร์กช็อปสร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์ โดย รศ.ดร.วิไลวรรณ จงลิไลเกษม, คุณครูนิภารัตน์ ยังพระเดช และนายฐิติชัย อัฏฏะวัชระ
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูมีแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนรักการอ่าน รู้จักคิดวิเคราะห์ให้หลากหลาย รู้เท่าทันสื่อและความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น โดยใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อการเรียนการสอน รวมถึงเพื่อให้นักเรียนมีองค์ความรู้เท่าทันสื่อและความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น จากเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อ เครือข่ายโรงเรียน เครือข่ายนักเรียน และส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดกลไกและกระบวนการคัดกรอง เฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ จากเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อ เครือข่ายโรงเรียน และเครือข่ายนักเรียน นิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์
ทั้งนี้ การสร้างภูมิการเรียนรู้อย่างเท่าทันสื่อ และการสร้างการเรียนรู้ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ ในวัยเด็กระดับชั้นประถมศึกษา จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้จากการอ่าน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการแสวงหาความรู้ และใช้ความรู้ที่ได้จากการอ่านในการปรับตัว เป็นทักษะด้านการรับรู้ที่สำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องมือเรียนรู้สิ่งต่างๆ อันเป็นรากฐานของการเรียนรู้แต่ละสาขาวิชา และเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ ความสามารถของผู้อ่าน ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ได้ผลระยะยาวมากที่สุด และยังได้เสริมสร้างชุดทักษะความรู้ จากกระบวนโต้ตอบ การพูดคุย ซักถาม ผ่านกิจกรรมในกระบวนการระหว่างการเรียนรู้จากการอ่าน.