ขนุนยืนต้นตายเซ่นภัยแล้ง เกษตรกรไม่มีรายได้ใช้หนี้ ธกส.
วันที่ 15 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอสามร้อยยอด ได้ไปสำรวจพื้นที่ปลูกขนุน หมู่ 4 ,6, 7 ต.ไร่เก่า และหมู่ 3, 4 ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกขนุนเพื่อการส่งออกที่มีชื่อเสียงอีกชนิดของอำเภอสามร้อยยอด และเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับ 2 รองจากมะม่วง แต่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ทำให้ขนุนกำลังยืนต้นตาย บางต้นเหี่ยวเฉา ทยอยแห้งจากยอดลงมาถึงกลางต้น หลังจากที่ฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอดไม่มีฝนตกลงมา แม้ว่าช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่มีปริมาณไม่มาก แค่ทำให้หน้าดินเปียก ไม่เพียงพอกับการเก็บกักน้ำได้ ล่าสุดสำรวจพบว่าสวนขนุนของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายมีจำนวน 131 ไร่
นายสำราญ เกตุเพชร เกษตรกร กล่าวว่าตนปลูกขนุนจำนวน 1,200 ต้น ในพื้นที่ 20 ไร่ ช่วงนี้แย่มาก เพราะต้นขนุนขาดน้ำ ขณะที่ในไร่มีทั้งบ่อน้ำและบาดาล ก็มีน้ำไม่พอขึ้นมารดต้นขนุน อาศัยรดน้ำอาทิตย์ละ1 – 2 ครั้ง ยิ่งรดก็ยิ่งแย่ลงทุกวัน ตอนนี้ในไร่ต้นขนุนที่เสียหายมีประมาณ 90% ปกติจะตัดขนุนเดือนละ 3 ครั้งๆ ละประมาณ 7 ตัน แต่ตอนนี้ไม่มีขนุนให้ได้ตัดเลย สภาพต้นขนุน 90% แห้งตายเกือบหมด ปีนี้คิดว่าฟื้นฟูไม่ขึ้นแล้ว ไม่ได้ผลผลิตเลย หลังจากนี้ถ้าไม่มีน้ำหรือฝน คิดว่าขนุนต้องตายทั้งหมด และคงต้องเป็นหนี้กันต่อไป
ก่อนหน้าที่ประสบภัยแล้ง เคยเก็บผลผลิตได้ครั้งละ 10 ตัน เดือนหนึ่งเก็บได้ 3 ครั้ง ตอนนี้รายได้ที่เคยมีทุกเดือนหายหมด เริ่มแย่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคมแย่มากที่สุด และมาตอนนี้แย่หนักขึ้นไปอีก ฝนไม่ตก น้ำก็ขาดไปทุกวัน สุดท้ายแล้วเราก็เป็นหนี้ อยากจะฟื้นฟูใหม่ อยากจะให้ทางราชการช่วยเหลือเป็นพันธุ์ขนุนมาฟื้นฟูกันใหม่ต่อไป
นายนิยม นาดี เกษตรกร กล่าวว่าตนปลูกขนุน จำนวน 6 ไร่ 300 ต้น เป็นขนุนพันธุ์ทองประเสริฐกับทองมาเลย์ ไม่มีน้ำให้รดมาสองเดือนแล้ว มีต้นขนุนตายประมาณ 10 % และที่กำลังจะตายประมาณ 50% ต้นจะมีลักษณะใบเล็กยอดแห้งลงมา ต้นขาวเหมือนลำต้นไม่มีน้ำเลี้ยง หรือขาดน้ำแบบรุนแรง ผลผลิตไม่มีเลย ในไร่ขุดสระไว้น้ำก็ยังไม่พอใช้ พอมาเห็นต้นขนุนทยอยตาย รู้สึกแย่ ผลผลิตไม่มี ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย ธกส. เมื่อก่อนเดือนหนึ่งจะตัดได้ 3 ครั้ง ขนุนในไร่ที่ตัดได้ประมาณ 100 – 200 ต้น เดือนหนึ่งจะตัดได้ประมาณ 3 – 4 ตัน ปกติขนุนชุดแรกจะตัดได้เดือนตุลาคม – พฤษจิกายน แต่สองเดือนที่ผ่านมาไม่มีผลผลิตออกมาเลย หลังจากนั้นจะเป็นฤดูใหม่ที่จะรอการตัด แต่เห็นแล้วคงไม่ได้ตัด ต่อจากนี้ไปคงต้องรอฝนอย่างเดียว ขนุนเป็นพืชที่กินน้ำมาก ถ้าให้ ก็ต้องให้สม่ำเสมอ ถ้าเปลี่ยนแปลงต้นขนุนจะมีอาการทันที คือรดเวลาไหน ก็ต้องรดเวลานั้น ขนุนเป็นพืชที่ขาดน้ำไม่ได้
ด้านนายนพดล เบญจกุล เกษตรอำเภอสามร้อยยอด กล่าวว่าลักษณะของการแล้งช่วงนี้ เป็นการแล้งที่สะสมมา คือฝนไม่ตกเลย หรือตกน้อย ทำให้ต้นไม้มีผลกระทบ โดยเฉพาะมะม่วง ขนุน ดังนัั้นเมื่อแล้งสะสมมาเรื่อยๆ ทำให้ใบร่วง ปลายเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนได้ออกสำรวจร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต. พบขนุนและมะม่วงยืนต้นตาย ได้นำเสนอนายอำเภอรับทราบแล้ว สำหรับคำแนะนำให้กับเกษตรกรในเบื้องต้นเรื่องภัยแล้ง การดูแลก็ต้องหาแหล่งน้ำ ต้องพยายามหาแหล่งน้ำที่จะรองรับเผื่อฝนแล้งทิ้งช่วงไปอีกระยะหนึ่ง อาจจะเป็นการขุดบ่อบาดาล หรือสูบน้ำจากที่อื่นมาเข้าสระของตัวเอง
สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เสียหายส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่อยู่เหนือคลองขึ้นไป จะเป็นพื้นที่ ที่ขาดแหล่งน้ำ อาศัยน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ อีก 1 ถึง 2 เดือน ถ้าฝนยังไม่ตก คิดว่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้น ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่ ที่คิดว่าจะเสียหาย รวมทั้งสิ้นแล้วทั้งอำเภอ ประมาณ 131 ไร่ เกษตรกร 52 ราย ถ้าเกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิง ผลไม้ยืนต้นจะได้รับการเยียวยา ไร่ละ 4,048 บาท ก่อนหน้านี้จังหวัดประจวบฯ ได้ประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติแล้ง 2 อำเภอ คืออำเภอหัวหินและอำเภอบางสะพานน้อย ได้นำเสนอให้เข้าคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดประจวบฯ (ก.ช.ภ.จ.) เพื่อขยายเป็นภัยพิบัติด้านพืชของอำเภอสามร้อยยอดยอด ซึ่งตอนนี้ได้ประกาศเป็นภัยพิบัติด้านพืชเกือบจะครบทุกอำเภอแล้ว.
ภาพ/ข่าว : ฐิติชญา แสงสว่าง