
เลขาธิการ ป.ป.ช. ตรวจสอบการขอออกโฉนดทับซ้อนในเขตวนอุทยานปราณบุรี
วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วย นายหิรัณย์เศรษฐ เหยี่ยวประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 7 น.ส.จุฑารัตน์ เหลืองเพิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดประจวบฯ นายสมศักดิ์ กรีธาธร หัวหน้าวนอุทยานปราณบุรี นายสุทธิรักษ์ อุฒมนตรี บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวเนชั่น พร้อมคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง และสื่อมวลชนพื้นที่จังหวัดประจวบฯ ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบการยื่นขอออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนในเขตที่ดินของวนอุทยานปราณบุรี ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยตรวจพบว่ามีชื่อ สว.โผล่ขอยื่นออกเอกสารด้วย จำนวน 2 แปลง
โดยเรื่องดังกล่าว ได้มีการออกโฉนดที่ดินจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) รวมทั้งสิ้น 11 แปลง ผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้จดทะเบียนขายแก่ “ว” และต่อมา “ว” ได้ขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6179 6180 6181 แก่ “พ” วันที่ 23 ธันวาคม 2554 ส่วนอีก 8 แปลง “ว” จดทะเบียนโอนชำระค่าหุ้นรวมแปดโฉนดแก่บริษัท “ด” ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในปัจจุบัน
จากหลักฐานเดิม หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 45 เล่มที่ 18 (1) หน้า 19 หมู่ 1 ต.ปากน้ำ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2520 เนื้อที่ 19-3-79ไร่ ได้แบ่งแยกเป็น น.ส.3 เลขที่ 108/95 (ไม่ปรากฏว่ามีการนำไปออกโฉนดหรือไม่) และได้แบ่งแยกแล้วนำไปออกโฉนดที่ดิน อีกจำนวน 11 แปลง (รวม 12 แปลง ได้เนื้อที่รวม 23-0-46.5 ไร่ มากกว่าหลักฐาน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 95 จำนวน 3-0-67.5 ไร่
การออกโฉนดที่ดินดังกล่าว มีการร้องเรียนว่าการออกโฉนดที่ดินจำนวน 11 แปลง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองเก่า – ป่าคลองคอย สำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงได้เรียกคืนโฉนดที่ดินทั้งจำนวน 11 แปลง เพื่อพิจารณาดำเนินการเพิกถอน จึงมีการร้องทุกข์ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาขอความเป็นธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกา จึงให้กรมป่าไม้ตรวจสอบและพิจารณาแล้ว ได้มีหนังสือกรมป่าไม้ แจ้งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าการออกโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อเนื่องจากใบเหยียบย่ำดังกล่าว อยู่นอกเขตป่าคุ้มครอง ซึ่งได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าคลองเก่า ในท้องที่ตำบลปากคลอง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็นป่าคุ้มครอง พุทธศักราช 2484
โดยบริเวณที่ออกใบเหยียบย่ำ ไม่เป็นป่าหวงห้ามในขณะนั้น ต่อมาได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 222 (พ.ศ.2510) กำหนดป่าคลองเก่า – คลองคอย เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่ดินตามใบเหยียบย่ำดังกล่าวได้ถูกผนวกเข้าเป็นป่าสงวนแห่งชาติด้วย แต่ใบเหยียบย่ำได้ออกมาก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ 222 (พ.ศ.2510) กำหนดป่าคลองเก่า – คลองคอย เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ใบเหยียบย่ำจึงออกมาโดยชอบด้วยกฎหมาย
กรมที่ดิน จึงได้มีหนังสือด่วนมาก ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 11 แปลง เมื่อปี พ.ศ.2533 นาย “ว” ได้ซื้อที่ดินทั้ง 11 แปลง และเมื่อปี พ.ศ.2547 “ว” ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน (ที่งอกชายทะเล) ทั้ง 11 แปลง
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่องนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีคำสั่งให้ออกโฉนด เพียง 2 วันก่อนเกษียณอายุราชการนอกจากนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่าผู้ที่ซื้อเอกสารสิทธิ์และขอออกโฉนดมีหนึ่งรายที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา โดย ป.ป.ช.จะตรวจสอบรายละเอียดเรื่องนี้อย่างละเอียดต่อไป.
ภาพ/ข่าว : เอกภพ วงษ์ประเสริฐ