กลุ่มอนุรักษ์ว่าว เตรียมจัดแข่งขันว่าวไทย

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 นายบุญธรรม ขาวปลอม กำนันตำบลพงศ์ประศาสน์ ร่วมกับนายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่าได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ว่าวนก ว่าวจุฬา ตำบลพงศ์ประศาสน์ เพื่อรวมตัวกันแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และอนุรักษ์ฟื้นฟูการทำว่าว ส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆไป ที่บ้านห้วยแก้ว ต.พงศ์ประศาสน์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

นายบุญธรรม กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลพงศ์ประศาสน์ ยังมี “ช่างว่าว”ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคนิคและวิธีประดิษฐ์ว่าวไทยจากรุ่นสู่รุ่น โดยใช้เวลาว่างจากงานประจำ มาประดิษฐ์ว่าวไทยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ 4 – 5 หมู่บ้าน เพื่อใช้เล่นในช่วงหน้าว่าว หรือขายให้กับผู้ที่สนใจ ซึ่งว่าวที่ทำขึ้นจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือว่าวจุฬา และว่าวนก นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการประดิษฐ์ว่าวไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลานในพื้นที่ ตนจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ว่าวนก – ว่าวจุฬา ตำบลพงศ์ประศาสน์ขึ้น เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ภูมิปัญญาในการประดิษฐ์ว่าวไทยให้คงอยู่คู่กับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนด้วย

ด้านนายเฟื่อง หรือช่างน้อย ไหมทอง อายุ 54 ปี ช่างทำว่าวในพื้นที่ ต.พงศ์ประศาสน์ กล่าวว่า ตนทำว่าวมา 10 กว่าปีแล้ว ทุกๆ ปีในช่วงหน้าว่าว จะนั่งทำว่าวไว้เล่น และบางส่วนทำขายให้กับคนที่สนใจ ซึ่งเทคนิคและวิธีการทำว่าว ตนได้ส่งต่อไปยังลูกหลาน ว่าวแต่ละตัวใช้เวลาทำที่แตกต่างกันไปตามความยากง่าย บางตัวใช้เวลาทำเพียง 4 ชั่วโมง บางตัวใช้เวลานานถึง 2 – 3 วัน ส่วนใหญ่จะทำว่าวจุฬา ว่าวนก ส่วนราคาที่ซื้อขายกันในกลุ่มผู้ที่สนใจ ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบของว่าว โดยเฉลี่ยหากว่าวมีขนาดประมาณ 1 เมตร จะขายได้ในราคาประมาณ 1,500 บาทขึ้นไป มีผู้สนใจสั่งเข้ามาอยู่เป็นประจำ ในแต่ละปีชาวบ้านในพื้นที่ สามารถเล่นว่าวได้ประมาณ 3 เดือน คือตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม หากผู้ที่สนใจอยากซื้อว่าว หรืออยากเเลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีในการทำว่าว สามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 064 – 8480529

นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานกองทุนแม่ของแผ่นดินและที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ว่าวนก – ว่าวจุฬา ตำบลพงศ์ประศาสน์ เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา ร่วมกับนายบุญธรรม ขาวปลอด กำนันตำบลพงศ์ประศาสน์ จัดกิจกรรมรวมพลคนอนุรักษ์เล่นว่าว ตำบลพงศ์ประศาสน์ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงโม่หินยุพาศิลาชัย และภาคส่วนต่างๆ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ตำบลพงศ์ประศาสน์มีการอนุรักษ์ประเพณีเล่นว่าวและผลิตว่าวไทยอยู่หลายหมู่บ้าน งานดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนนำช่างฝีมือในการประดิษฐ์ว่าวมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอนุรักษ์ฟื้นฟูการทำว่าวเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไป และคาดว่าปีนี้จะจัดงานดังกล่าวเป็นปีที่ 2 ในช่วงประมาณเดือนธันวาคมนี้ และจะพยายามให้กลุ่มได้จัดงานดังกล่าวต่อเนื่องทุกปี.

พิสิษฐ์ รื่นเกษม….รายงาน

ข่าวแนะนำ