จุฬาราชมนตรี เปิดงานรวมพลังศรัทธาพัฒนาอักมาลุ้ลอิสลาม ครั้งที่ 37
ช่วงเย็นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานรวมพลังศรัทธาพัฒนา มัสยิดอักมาลุ้ลอิสลาม ครั้งที่ 37 และเปิดป้ายมัสยิดอักมาลุ้ลอิสลาม ตลอดจนเยี่ยมเยียนชุมชนมุสลิมที่มัสยิดอักมาลุ้ลอิสลาม หมู่ 10 บ้านเขาเสน ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีนายองครักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวต้อนรับ และมีนายอินยาส ขำวิไล ประธานจัดงาน พร้อม นายยูซบ โต๊ะวัง ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดประจวบฯ กล่าวรายงาน มีพระครูสุจิตสิทธิธรรม เจ้าคณะอำเภอเมืองฯ (ฝ่ายธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดหนองกุ่มสุมังคลาราม (ผู้แทนเจ้าคณะจังหวัดฯ) นายสวาป เผ่าประทาน รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายประสูตร หอมบันเทิง นายอำเภอเมืองฯ นางกฤษณา แผ่แสงจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัด นายชาญวิทย์ อุณหสุทธิยานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ นายเสทือน ลิบลับ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองฯ นายสังคม แดงโชติ สส.ประจวบฯเขต 1 นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายก อบจ.ประจวบฯ คณะกรรมการอิสลามกลางฯ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงาน คณะกรรมการจัดงาน ผู้นำมัสยิดในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้บริหารธนาคารอิสลาม สาขาหัวหิน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ เครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มสตรีและเยาวชน ตลอดจนชาวมุสลิมในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมงาน
นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วน ที่มีส่วนช่วยให้เกิดงานในวันนี้ ทั้งนี้ จากที่ได้รับฟังคำกล่าวรายงานถึงความเป็นมาของมัสยิดแห่งนี้ และกระบวนการในการขับเคลื่อนการบริหารองค์กรมัสยิดให้มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลต่อสังคม รู้สึกชื่นชมในความร่วมมือ ความสามัคคี ความรักความเข้าใจที่มีต่อกัน โดยเฉพาะระหว่างองค์กรศาสนาที่มีความแตกต่างกันในความเชื่อ ความศรัทธา แต่สามารถร่วมกัน สร้างสรรค์สังคมให้ยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมความดี ตามคำสอนของศาสนา ขอให้การจัดงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ และเป็นกิจกรรมการกุศลที่ก่อเกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง
นายองครักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวในนามประชาชนชาวจังหวัดประจวบฯ ว่าจังหวัดประจวบฯ มีประชากรจำนวน 553,171 คน ประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 5,046 คน ใน 13 ชุมชนมัสยิด สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดประจวบฯ มีส่วนร่วมกับภาคราชการ และศาสนิกชนต่างๆ อย่างดียิ่งและต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้บรรยากาศของการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างด้านความเชื่อ ความศรัทธา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดความสงบสุขในสังคม เป็นที่น่ายินดีและภาคภูมิใจ ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรมัสยิดต่างๆ ได้รับรางวัลการบริหารจัดการองค์กรระดับดีเด่น และรางวัลดีเด่นกิตติมศักดิ์ของกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับพระราชทานโล่รางวัลและเงินรางวัล ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ถึง 9 ปีซ้อน
ด้านนายอินยาส ขำวิไล ประธานจัดงาน กล่าวว่าเป็นครั้งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้มีโอกาสต้อนรับ ฯพณฯ จุฬาราชมนตรี ทั้งนี้ มัสยิดอักมาลุ้ลอิสลาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2506 เป็นอาคารไม้หลังเดิม ปัจจุบันยังคงบูรณะและอนุรักษ์ไว้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2512 ได้ก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังที่ 2 ปัจจุบันเป็นอาคารละหมาดของสุภาพสตรี และอาคารมัสยิดหลังปัจจุบัน ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 จนถึงปัจจุบัน ด้วยพลังศรัทธาจากพี่น้องที่ร่วมแรงร่วมใจกัน จนเป็นอาคารมัสยิดที่มั่นคงในขณะนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มัสยิดอักมาลุ้ลอิสลาม ได้ดำเนินบทบาทของการเป็นศูนย์รวมจิตใจสัปปุรุษของมัสยิด สอดคล้องกับนโยบายสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ที่มุ่งเน้นให้มัสยิดเป็นองค์กรที่เข้มแข็งด้านการบริหารจัดการ เป็นศูนย์รวมของความศรัทธา เป็นศูนย์รวมของการศึกษาเรียนรู้ เป็นศูนย์รวมของการพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคม เป็นการใช้พลังอันบริสุทธิ์ ร่วมสร้างสรรค์สังคม แบ่งเบาภาระราชการ ร่วมมือกับองค์กรศาสนาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ นำคำสอนที่บริสุทธิ์ของแต่ละศาสนา บ่มเพาะคุณธรรมความดีสู่สังคม เช่น โครงการมัสยิดเข้มแข็ง สร้างสุขภาวะชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม มัสยิดอักมาลุ้ลอิสลามจัดทำโครงการบริหารจัดการขยะต้นทาง โดยการคัดแยกขยะจากครัวเรือน โครงการมหัศจรรย์พันวันแรกแห่งชีวิต โครงการกองทุนวากัฟ โครงการด้านสุขภาพอนามัยชุมชน และอีกหลายๆ โครงการ โดยมัสยิดอักมาลุ้ลอิสลามได้รับรางวัลมัสยิดต้นแบบดีเด่นประจำจังหวัด ปี 2564
ด้านการศึกษา มัสยิดอักมาลุ้ลอิสลาม จัดการศึกษากุรอ่าน – ฟัรดูอีน ปัจจุบันมีนักเรียน 54 คน ครู 3 คน ส่วนการศึกษาทั่วไป มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาศาสตร์อิสลามประจำมัสยิด เปิดทำการเรียนการสอนทุกวันศุกร์แก่มุอัลลัฟและผู้สนใจทั่วไป ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือเหตุผลที่องค์กรมัสยิดต้องมีความพร้อมด้านบุคลากร ด้านความรู้ความสามารถ และงบประมาณในการเสริมสร้างศักยภาพของมัสยิด ให้สามารถร่วมสร้างสังคมคุณธรรม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ คือการก่อสร้างหออาซานของมัสยิด ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาภาคศาสนา และกิจกรรมอื่นที่มัสยิดได้ดำเนินการอยู่ ซึ่งแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ดำเนินการ ปีละไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท ขอเอกองค์อัลเลาะห์ (ซ.บ.) ทรงประทานความสุข ความซาลามัตเราะห์มัตแด่ท่านทั้งหลายโดยทั่วกัน.
บุญมา ลิบลับ….รายงาน