อุทยานกุยบุรี เร่งเติมน้ำในบ่อธรรมชาติให้สัตว์ป่า หลังเจอภัยแล้งหนัก

วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบฯ เปิดเผยว่า ตามที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้ปรับปรุงแหล่งน้ำแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของช้างป่า กระทิง วัวแดง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์นั้น แต่เนื่องจากในปีนี้เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงและยาวนาน ทำให้น้ำในบ่อเกิดการแห้งขอด จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่เติมน้ำในบ่อน้ำธรรมชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ไม่ให้ขยายวงกว้างออกไป และป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าออกมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน และไม่ย้ายถิ่นไปอยู่ในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกล่า ทั้งนี้ป่ากุยบุรี เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศและชีวภาพ แหล่งรวมพันธุ์ไม้หายาก และถิ่นอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง สมเสร็จ สัตว์ป่าอยู่อย่างสมบูรณ์มาเป็นร้อยปี

ที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาขัดแย้งกันระหว่างคนกับช้างป่า คนไปบุกรุกที่ช้าง ช้างเข้ากัดกินพืชไร่ ทำให้ช้างป่าถูกฆ่าตายไปหลายตัว ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ นำผืนป่าที่นายทุนคืนให้ทางราชการมาปรับปรุง จนกลายเป็น “โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกป่าเพื่อยังความชุ่มชื้นคืนธรรมชาติ และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าทั้งปวง ทรงมีพระราชดำรัสคนกับช้าง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ว่า “ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องสร้างแหล่งอาหารให้กับช้างเพียงพอ การปฏิบัติต้องไปสร้างแหล่งอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้าง หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2542 อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จึงได้มีการสร้างแหล่งอาหารให้กับสัตว์ป่าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน.

ข่าวแนะนำ