คอทุเรียนห้ามพลาด งานมหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู ครั้งที่ 11 กระตุ้นการท่องเที่ยวหัวหิน
วันที่ 14 มิถุนายน 2567 นายนพพล วัฒนากร ปลัดอำเภอหัวหิน ตัวแทนนายอำเภอหัวหิน น.ส.วรกานต์ ถาวร รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบฯ นางศันสนีย์ เกษตรสินสมบัติ เกษตรจังหวัดประจวบฯ นางวาสนา ศรีกาญจนา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน/ชะอำ นายวัชระ กำพร นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู” ครั้งที่ 11 ที่หน้าศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน จ.ประจวบฯ มี น.ส.เฌอมาลย์ อุทัยวรรณวงศ์ นายกสโมสรไลอ้อนส์หัวหิน นายอมรเทพ อ่วมมีเพียร ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจหัวหิน และแขกผู้มีเกียรติจำนวนมาก พร้อมชมการเดินแบบจาก “น้องฟ้า” ผู้เข้าประกวดธิดาทุเรียนป่าละอูจำแลง 2024 โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มิถุนยาน -3 กรกฎาคม ที่บริเวณลานกิจกรรม ข้าง อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทุเรียนให้กับผู้บริโภคโดยตรง ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนตามมา ภายในงานมีเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ กว่า 70 ราย นำผลไม้และพืชผลทางการเกษตร อาทิ เงาะ มังคุด สับปะรด และของดีต่างๆ ในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ มาจำหน่าย โดยเฉพาะทุเรียนป่าละอู ทั้งพันธุ์หมอนทองและชะนี ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกได้คัดทุเรียนป่าละอูเกรด A จากสวนโดยตรง นำมาจำหน่ายและให้นักท่องเที่ยวได้ลองชิมที่ศูนย์แสดงสินค้าโอทอป ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ในราคาเดียวกันทุกร้าน กิโลกรัมละ 250 บาท นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์กลุ่มแม่บ้าน สินค้าโอทอป สินค้าเกษตรแฟร์ ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ เครื่องมือการเกษตร เฟอร์นิเจอร์ สินค้าโรงงานมาร่วมจำหน่ายตลอดงาน พบกับการประกวดทุเรียนป่าละอู ชิงรางวัลและบัตรประกาศนียบัตรจากผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ การประกวดธิดาทุเรียนป่าละอูจำแลง 2024 พร้อมศิลปินนักร้องดังบนเวทีทุกค่ำคืน ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชิมทุเรียนป่าละอูแสนอร่อยจากสวนโดยตรงแล้ว ยังได้ชมวิถีชีวิตหมู่บ้านชาวไทยภูเขา และน้ำตกป่าละอูเลื่องชื่อ ที่มีความสวยงาม สามารถเข้าเที่ยวชมได้ทั้งปี
ทั้งนี้ทุเรียนป่าละอู เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองพระราชทาน ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงพระราชทานให้แก่ตำรวจตระเวนชายแดนนำไปปลูกที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนอานันท์ ที่บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2509 จนกลายเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกกันในพื้นที่ เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ป่าละอูที่มีความพิเศษบนพื้นที่สูง สภาพอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของดิน อีกทั้งเป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ จึงทำให้ได้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพ มีรสหวาน เนื้อหนา เหนียว เนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้ง มีความมันมากกว่าความหวาน เม็ดลีบเล็ก กลิ่นไม่รุนแรง ได้รับการยอมรับจากผู้โปรดปรานทุเรียน ว่ามีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับเครื่องหมายสินค้า GI (Geographical Indication) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 แสดงถึงแหล่งเพาะปลูกที่เจาะจงแค่ที่ใดที่หนึ่ง เป็นสินค้าเด่นของชุมชน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร โดยผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมาย GI ได้แก่ เกษตรกรผู้ผลิตในพื้นที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งได้ร่วมกันรักษาคุณภาพมาตรฐานชื่อเสียงและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นนี้เอาไว้.