สบอ.3 เพชรบุรี จับมือเทศบาลหัวหิน ทำหมันลิง 203 ตัว ย้ายลิงเกเรไปที่ใหม่
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี กล่าวว่าตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับเทศบาลเมืองหัวหิน โดยมีนายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ในการดำเนินโครงการควบคุมประชากรลิงแสมในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2567 ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมประชากรลิงแสมด้วยวิธีการทำหมันในพื้นที่บริเวณเขาหินเหล็กไฟและเขาตะเกียบ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายลิงไปไว้ยังกรงพักพิงลิง ภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 11 – 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดย สบอ.3 เพชรบุรี ได้เคลื่อนย้ายลิงแสมในพื้นที่เขาตะเกียบและเขาหินเหล็กไฟแล้ว จำนวน 203 ตัว เพศผู้ 109 ตัว เพศเมีย 94 ตัว ซึ่งทุกตัวได้ทำหมันแล้วทั้งหมด ก่อนย้ายลิงแสมที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ไปยังกรงพักพิงลิงแสม ภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าฯ ที่เตรียมไว้ 10 กรง สามารถพักพิงลิงแสมได้กรงละ 20 ตัว พร้อมอาหารสำหรับลิงแสมไว้ 2 มื้อต่อวัน ประกอบไปด้วยใบไม้ต่างๆ ที่ลิงกินและผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งการดำเนินงานเคลื่อนย้ายลิงแสมในครั้งนี้เป็นไปตามหลักวิชาการ
น.ส.บุษบา โชคสุชาติ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับ เทศบาลเมืองหัวหิน จัดโครงการ “ย้ายลิงสู่ที่พักพิงใหม่” โดยการจับลิงแสมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่เขาตะเกียบและเขาหินเหล็กไฟ ทำหมันแล้วย้ายไปที่พักพิงใหม่ จากการลงพื้นที่ติดตามความเป็นอยู่ของลิงที่ย้ายมาไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าฯ พบว่าลิงค่อนข้างที่จะแข็งแรง อยู่เป็นที่เป็นทาง เป็นสัดส่วนในกรงของอุทยานที่เตรียมไว้เพื่อสุ่มตรวจโรค ซึ่งจะกักตัวไว้ประมาณ 3 อาทิตย์ ก่อนที่จะนำไปปล่อยในสถานที่ ที่จัดเตรียมไว้ต่อไป ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาลิงรบกวนชุมชนในระดับหนึ่งของเทศบาล ส่วนแนวทางต่อไป จะไปปรับปรุงกรงนกที่บนเขาหินเหล็กไฟ เพื่อสร้างเป็นแหล่งที่อยู่ใหม่ของลิงแสม ที่ได้ทำหมันโดยร่วมกับกรมอุทยานฯ ตั้งแต่ปี 60 จนถึงปัจจุบัน เทศบาลฯ ได้ทำหมันลิงไปแล้วกว่า 3,000 ตัว
“หากประชาชนท่านใดที่มีอาหารที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ แตงกวา กล้วย เศษขนมปัง หรือแม้กระทั่งอาหารเม็ดสุนัข ก็สามารถนำมาบริจาคให้กับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าฯ ได้ หรือจะไปบริจาคกับเทศบาลฯ ก็ได้ เราจะนำเอามาให้อีกเหมือนกัน ต้องขอขอบคุณ รัฐมนตรีเฉลิมชัยฯ ที่สั่งการแล้วให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาลิงแสมอย่างถูกวิธีเป็นระบบแบบยั่งยืน” น.ส.บุษบา กล่าวในตอนท้าย.