จิตอาสา 904 ตำรวจประจวบฯ แจกหมวกนิรภัยให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ช่วงเทศกาลปีใหม่
วันที่ 28 ธันวาคม 2567 จิตอาสา 904 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำโดย พ.ต.อ.ไพทูล พรมเขียน ผกก.สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับฝ่ายจราจร สถานีตำรวจภูธรเมืองประจวบคีรีขันธ์ สถานีตำรวจภูธรคลองวาฬ จัดกิจกรรมรณรงค์สวมใส่หมวกนิรภัย เสริมสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยรณรงค์ให้ความรู้และแนะนำข้อดีข้อเสียของการสวมหมวกและไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขี่รถจักรยานยนต์ รวมไปถึงโทษปรับตามกฎหมายหากไม่สวมหมวกนิรภัย พร้อมทั้งแจกหมวกนิรภัยให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่มี โดยจะบันทึกชื่อและหมายเลขบัตรประชาชนไว้ในสารบบ หากผู้ที่ได้รับแจกหมวกนิรภัยไปแล้วถูกเรียกตรวจสอบในภายหลังขณะขับขี่ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินโครงการจิตอาสาจราจร รณรงค์การขับขี่ปลอดภัยสวมหมวกนิรภัย เพื่อลดอุบัติเหตุจากจราจรทางบกในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 โดยสนับสนุนกิจกรรมงานจราจร ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องกฎจราจร การใช้รถใช้ถนนที่ถูกต้อง และมอบหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานให้แก่ประชาชนที่ได้รับการอบรม พร้อมบันทึกชื่อ สกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมวกนิรภัย และถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานทำประวัติ
พ.ต.อ.ไพทูล พรมเขียน ผกก.สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจภูธรภาค 7 และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีโครงการกำหนดให้จิตอาสา 904 ร่วมกับจิตอาสาและสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ จัดสรรซื้อหมวกนิรภัยแจกให้กับประชาชนที่ไม่มีหมวกนิรภัย พร้อมรณรงค์การสวมใส่หมวกนิรภัยขณะขับขี่ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงขอฝากประชาชนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ขอให้สวมใส่หมวกนิรภัยขณะขับขี่ หากเกิดอุบัติเหตุจะช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณศีรษะลงได้ เนื่องจากส่วนสมองมีความสำคัญ จึงอยากให้สวมใส่หมวกกันน็อคทุกๆ คน
ร.ต.อ.สันติ ทองฉิม รองสารวัตรจราจร สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือการขี่รถจักรยานยนต์แล้วไม่สวมหมวกนิรภัยของพี่น้องประชาชนเป็นส่วนใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการกวดขันและจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานจะเน้นว่ากล่าวตักเตือนก่อนเป็นอันดับแรก พร้อมกับมอบหมวกนิรภัยให้กับผู้ที่ไม่มี นำไปใส่ขณะขับขี่ โดยจิตอาสาจะเป็นผู้มอบหมวกนิรภัยให้ในทำผิดในครั้งแรก เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งตำรวจได้กำหนดอัตราโทษปรับตามกฎหมายที่สูง ดังนั้นตำรวจจึงมีมาตรการจากเบาไปหาหนัก เริ่มต้นจากการว่ากล่าวตักเตือนและแจกหมวกนิรภัยให้ไปใช้ก่อนในครั้งแรก และบันทึกประวัติการรับแจกหมวกนิรภัยไว้ในระบบ และหากครั้งถัดไปยังกระทำผิด ก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้อยากให้ประชาชนเสียค่าปรับตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจร แต่อย่างใด แต่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพราะฉะนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนให้สวมใส่หมวกนิรภัยขณะขับขี่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง และไม่กระทำผิดกฎหมายด้วย.
เอกภพ วงษ์ประเสริฐ…..รายงาน