รัฐมนตรีเปิดโครงการรักษ์หาดไทยเฉลิมพระเกียรติและสร้างการมีส่วนร่วมปัญหาขยะทะเล

วันที่ 17 มกราคม 2568 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดโครงการ “รักษ์หาดไทยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ที่บริเวณชายหาดปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ มีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนประมาณสองพันคนร่วมในพิธี โดยรัฐมนตรีฯ ประกอบพิธีถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกล่าวถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นกล่าวเปิดโครงการ พร้อมมอบอุปกรณ์จัดเก็บขยะชายหาดให้แก่ผู้แทนเครือข่ายจำนวน 5 ชุมชน ก่อนที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะช่วยกันเก็บขยะ ใช้ตาข่ายร่อนกรองเศษขยะบนหาดทราย พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณชายหาดปากน้ำปราณให้สะอาด สวยงาม ป้องกันผลกระทบจากปัญหาขยะทะเลและส่งเสริมการท่องเที่ยว ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วมและความตระหนักในการจัดการปัญหาขยะทะเล

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสานและต่อยอด ตามรอย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สนองพระราชปณิธาน จัดโครงการ “รักษ์หาดไทยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ที่ชายหาดปากน้ำปราณ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดปริมาณขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาขยะทะเลติดอันดับ 10 ของโลก โดยร้อยละ 80 มีแหล่งที่มาจากบนบก ขยะที่พบมีความหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นขยะซึ่งย่อยสลายได้ยาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและระบบนิเวศที่สำคัญ ได้แก่ ปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน และสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะทะเล อีกทั้งสถานการณ์ที่ประเทศไทยปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี การจัดการขยะทะเล ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) พร้อมนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายลดปริมาณขยะตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลอย่างมีส่วนร่วม เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการขยะทะเลอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนชายฝั่ง เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ปากน้ำปราณเข้ามามีส่วนร่วม จากนั้นจะมีการขยายผลการจัดกิจกรรมลักษณะเช่นนี้ไปตามภูมิภาคต่างๆ 5 ภูมิภาค

ด้านนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) กล่าวว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเล ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน มีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล วาฬ พะยูน โลมา นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญ ได้แก่ แนวปะการัง ชายหาด ที่ผ่านมา ปัญหาการทิ้งขยะลงทะเลส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เป็นปัญหาที่มีความสำคัญระดับประเทศและระดับโลก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงได้สำรวจชนิดและปริมาณขยะบริเวณแนวชายฝั่ง โดยเฉพาะชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเพื่อจัดทำฐานข้อมูล ใช้ในการบริหารจัดการขยะทะเลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ.

ข่าวแนะนำ