ราษฎรขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยยางแพรกซ้าย แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทับสะแก

วันที่ 16 มกราคม 2568 นายสินาทร โอ่เอี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายสุภาพ ศิริธนศาสตร์ ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยยางแพรกซ้าย มีนายสิทธิพร คงหอม นายอำเภอทับสะแก น.ส.สใบทิพย์ ศรีทองสุข ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานพื้นที่ 51 นายพีรสิชฌ์ อนันต์วณิชย์ชา ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายธวัชชัย แดงฉ่ำ นายก อบต.ห้วยยาง นายสุรศิลป์ ยนปลัดยศ นายก อบต.แสงอรุณ นายสุภาพ ศิรินธนศาสตร์ ผู้ถวายฎีกา เจ้าหน้าที่จากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมที่ อบต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์

นายสุภาพ ศิรินธนศาสตร์ ราษฎรในตำบลห้วยยาง อ.ทับสะแก กล่าวว่าตำบลห้วยยางและตำบลแสงอรุณ ไม่มีแหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติ จึงได้ทูลถวายฎีกาขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหัวยยางแพรกซ้าย เพื่อเป็นการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เพื่อให้ราษฎรได้มีแห่งน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภคและทำการเกษตร

ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่าได้ตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับราษฎรผู้ทูลขอพระราชทานโครงการก่อสร้างฯ และผู้เกี่ยวข้องแล้ว พบว่าพื้นที่หัวงานและแนวสันอ่างเก็บน้ำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ทำกินของราษฎร ส่วนพื้นที่กักเก็บน้ำจะครอบคลุมพื้นที่ทำกินของราษฎรบางส่วนและพื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง ซึ่งมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จากการสำรวจเบื้องต้นดังกล่าว ไม่อาจคำนวณพื้นที่ได้ทั้งหมด เนื่องจากยังไม่มีการสำรวจออกแบบ ต้องรอผลการสำรวจออกแบบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะสามารถให้ข้อคิดเห็นหรือวิเคราะห์ผลต่างๆ ได้ ส่วนกรมทรัพยากรน้ำได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับราษฎรผู้ทูลขอพระราชทานโครงการก่อสร้างฯ อบต.ห้วยยาง ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและราษฎรตำบลห้วยยาง มีแนวทางให้ความช่วยเหลือ โดยจะดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยยางแพรกช้าย ซึ่งได้สำรวจภูมิประเทศสำหรับออกแบบและวางโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎร ทางด้านกรมป่าไม้ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า พื้นที่ ที่จะดำเนินโครงการอยู่ในหุบเขา ส่วนใหญ่เป็นแปลงที่ดินทำกินของราษฎร คาบเกี่ยวกับเขตที่ป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง และป่าสงวนแห่งชาติป่าทับสะแก สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีพื้นที่ป่าที่อยู่ข้างเคียงเป็นป่าเบญจพรรณ คณะผู้ร่วมตรวจสอบจึงมีความเห็นว่า ควรให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยให้ขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ขอให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป และศูนย์ดำรงธรรมได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า

1.การสร้างอ่างเก็บน้ำตามรูปแบบที่มีความจุหลักล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่น้ำท่วมถึงในเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องขอออนุญาตต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่ออกจากการเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
2.พื้นที่ ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องขออนุญาตตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3.กรมชลประทานจะดำเนินการจัดตั้งงบประมาณเพื่อทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดทำคำขอโครงการและงบประมาณการก่อสร้าง
4.พื้นที่ของเอกชนได้มีการให้ความเห็นในราคาเบื้องต้นแล้ว ซึ่ง อบต.ห้วยยาง จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลงบประมาณต่อไป

ทั้งนี้รองผู้ว่าฯ ได้สรุปการประชุม มอบหมายให้นายอำเภอประสานงานกับท้องถิ่น พูดคุยหารือกับเจ้าของพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบเพื่อดำเนินการต่อในขั้นตอนถัดไป และให้ทุกหน่วยงานร่วมกันศ​ึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหารือแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วย.

ณัฐธภพ พันสาย….รายงาน

ข่าวแนะนำ