
ประจวบฯ เตรียมจัดงานประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนพระอุปคุตริมทะเล แห่งเดียวในไทย
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 นายกมล แก้วเทศ นายกเทศมนตรีเมืองประจวบฯ เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการจัดงานประเพณีตักบาตรเพ็ญพุธแรก (หลวงปู่พระอุปคุตเที่ยงคืน) ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักเทศบาลเมืองประจวบฯ
วันเพ็ญพุธ หรือวันเป็งปุ๊ด เป็นประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน ซึ่งเป็นประเพณีของชาวล้านนาทางภาคเหนือ ในทุกปีที่มีวันขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ โดยไม่เจาะจงว่าต้องอยู่ในเดือนใด พระภิกษุสามเณรทุกรูปจะออกบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืน เชื่อกันว่าหลวงปู่พระอุปคุต พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มากจะออกจากการจำพรรษา เหาะขึ้นมาจากมหาสมุทร (หรือสะดือทะเล) โดยจะแปลงกายเป็นสามเณรน้อยออกมาโปรดสัตว์ ถ้าผู้ใดได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตแล้ว บุคคลผู้นั้นจะเหลือกินเหลือใช้ ร่ำรวยเป็นเศรษฐี สุขภาพแข็งแรง รักยืนยาว บังเกิดแต่สิ่งดีที่เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
สำหรับในปีนี้ตรงกับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งแต่เวลา 00.01 น. โดยจะมีขบวนพระภิกษุ สามเณร จำนวน 40 รูป ออกรับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้งจากพุทธศาสนิกชน เข้าแถวเรียงรายเป็น 2 แถว เริ่มจากกลางสะพานสราญวิถี มีขบวนชาวไทยเชื้อสายมอญแบกเสรียง ด้านบนมีรูปหล่อพระอุปคุตโบราณ ระยะทางกว่า 500 เมตร เป็นการจำลองการเดินทางของพระอุปคุตจากสะดือทะเล เพื่อออกมาบิณฑบาตในโลกมนุษย์ และมีความเชื่อว่าถ้าใครได้ใส่บาตรในวันเพ็ญพุธ จะได้รับอานิสงส์แรงกล้า โดยก่อนเริ่มขบวนพระอุปคุต หรือพระบัวเข็ม ผู้ปราบพญามาร มีกิจกรรมสวดมนต์อุปปาตะสันติคาถา เจริญสมาธิ แผ่เมตตา การเทศนาเรื่องพระอุปคุต รำขอพรพระอุปคุตจากนางรำกว่า 100 คน การเชิดพญานาคและพิธีลั่นกลองชัยถวายบูชาองค์หลวงปู่พระอุปคุต ซึ่งการตักบาตรเที่ยงคืนหน้าอ่าวประจวบฯ เป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีวิหารพระอุปคุต หันหน้าสู่ทะเลทางทิศตะวันออก และพุทธศาสนิกชนตักบาตรหน้าทะเล เสมือนรับพระอุปคุตขึ้นจากสะดือทะเล ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชน และทุกครั้งที่จัดงาน แรงศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศจะนำข้าวสารอาหารแห้งมาร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและทำนุบำรุงพระศาสนา.