Categories
ข่าว ทั้งหมด

หลายฝ่ายร่วมโครงการสืบสานรักษา ต่อยอด ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ สร้างฝายชะลอน้ำ

หลายฝ่ายร่วมโครงการสืบสานรักษา ต่อยอด ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ สร้างฝายชะลอน้ำ

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 นายสุทิน ประเสริฐศักดิ์ นายอำเภอบางสะพาน เป็นประธานเปิดฝายน้ำล้น พร้อมรับมอบจาก ธ.ก.ส. สาขาเกาะยายฉิม ที่หมู่ 8 ต.คลองลอย อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ มีนายสามารถ เอี่ยมวงษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก และนายจักรพันธ์ ม่วงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายคมสัน เปลี่ยนปราณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.ประจวบฯ นายสถาพร จานแก้ว ผู้จัดการสาขาเกาะยายฉิม และทีมงานพัฒนาลูกค้า ธ.ก.ส.ประจวบฯ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การสร้างฝายน้ำล้น พร้อมด้วย พ.ต.ต.วรพล พงศกรมงคล ผบ.ร้อย ตชด.147
ร.ต.ต.นคร แก้วสระเเสน รรท.ผบ.มว.1473 นางสุรางค์ แซ่ตั้ง นายก อบต.กำเนิดนพคุณ นายบุญฤทธิ์ แดงรักษา ปลัด อบต.ร่อนทอง นายอภิปัทม์ รุ่งโรจน์ ผู้จัดการส่วนชุมชนสัมพันธ์ กลุ่มเหล็กสหวิริยา จิตอาสาพระราชทาน ชุมชน เจ้าหน้าที่ส่วนงานราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครูและนักเรียนจากโรงเรียนบ้านคลองลอย พนักงาน ธ.ก.ส. เข้าร่วมกิจกรรม

นายสามารถ เอี่ยมวงษ์ กล่าวว่า กิจกรรมเรียงหินสร้างความเข้มแข็งให้กับฝายชะลอน้ำบ้านคลองลอย ในวันนี้ ได้รับงบประมาณในการสร้างจาก ธ.ก.ส. 208,000 บาท และชุมชนช่วยงานทดแทน ค่าจ้างแรงงาน 10,000 บาท รวมงบประมาณในการก่อสร้าง 218,000 บาท เป็นฝายแบบคอนกรีตเสริมเหล็กแทนดินเรียงหินท้าย ฝายกว้าง 3 เมตร ยาว 12 เมตร สูง 2 เมตร ขุดลอกลำห้วยยาว150 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 3,000 ลูกบาศก์เมตร มีผู้ได้รับประโยชน์เป็นลูกค้าธนาคาร 48 ครัวเรือน
เกษตรกรและชุมชนทั่วไป 43 ครัวเรือน รวม 91 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 850 ไร่ เป็นทุเรียน 670 ไร่ ยางพารา 100 ไร่ กาแฟ 80 ไร่

กิจกรรมในครั้งนี้อยู่ในโครงการสืบสาน รักษา ต่อยอด ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสร้างฝายชะลอน้ำ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 68 พรรษา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 ซึ่ง ธ.ก.ส. เล็งเห็นว่าเป็นโครงการที่มีคุณค่า มีคุณประโยชน์ต่อเกษตรกรลูกค้าและชุมชน ทั้งภาคเกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภคของชุมชน เป็นการสร้างความชุ่มชื้น ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ส่งเสริมการอนุรักษ์ดิน ป่า น้ำ ประกอบกับปี 2567 เกษตรกรลูกค้าประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง ขาดน้ำในการอุปโภคและบริโภค ส่งผลเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร ธ.ก.ส. จึงสนับสนุปประมาณเป็นกรณีพิเศษ สร้างฝายชะลอน้ำ โดยคัดเลือกพื้นที่ป่าต้นน้ำบ้านคลองลอย หมู่ 8 ต.ร่อนทอง สร้างฝายชะลอน้ำร่วมกับจิตอาสาพัฒนาของอำเภอบางสะพาน

การสร้างฝายแห่งนี้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จนประสบความสำเร็จ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์มหาศาลและเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ธ.ก.ส. ได้ส่งมอบฝายแห่งนี้ให้กับนายสุทิน ประเสริฐศักดิ์ นายอำเภอบางสะพาน ส่งมอบต่อให้กับ อบต.ร่อนทอง และผู้นำชุมชมชนบ้านคลองลอย หมู่ 8 ช่วยดูเเลรักษาต่อยอด สร้างความมั่นคงและยั่งยืนต่อเกษตรกรสืบต่อไป นายสามารถกล่าว.

พิสิษฐ์ รื่นเกษม…..รายงาน

ข่าวแนะนำ
Categories
ข่าว ทั้งหมด

เฉลิมชัย เปิดเวทีสร้างความเข้มแข็งภาคีเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลประจวบฯ

เฉลิมชัย เปิดเวทีสร้างความเข้มแข็งภาคีเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลประจวบฯ

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ มีนายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ทส. เจ้าหน้าที่ในสังกัด ทส. นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล หรือ อสทล. เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน โอกาสนี้ รมว.ทส. ได้มอบโล่ผู้นำชุมชนชายฝั่งตัวอย่างให้แก่ นายประเสริฐ แตกช่อ นายกสมาคมชาวประมงหัวหิน (คนรักชายหาดหัวหิน) มอบเงินอุดหนุนชุมชนชายฝั่ง มอบอุปกรณ์เก็บขยะให้กับชุมชนชายฝั่ง และมอบบัตรประจำตัวให้กับเครือข่าย อสทล.จำนวนกว่า 40 คน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวว่า กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน สนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคประชาชน เช่น เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) และเครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางสร้างการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเสริมความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ รวมถึงช่วยกันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักธรรมาภิบาล สำหรับเครือข่ายชุมชนชายฝั่งทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและได้รับผลกระทบโดยตรงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นเวทีกลางในการเปิดโอกาสให้เครือข่ายชุมชนชายฝั่งและเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในจังหวัดประจวบฯ ได้แสดงความคิดเห็นและเรียนรู้ในบทบาทหน้าที่ของชุมชนชายฝั่ง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 เพื่อให้ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแลการอนุรักษ์และป้องกันการทำลายทรัพยากรชายฝั่งทะเล รวมถึงระบบนิเวศที่สำคัญได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงความสำคัญของทรัพยากรชายฝั่งทะเลและผลกระทบที่เกิดขึ้นหากต้องสูญเสียระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่สำคัญเหล่านี้ไป

“ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหัวหินที่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ต้องฝากให้เทศบาลเมืองหัวหิน และผู้ประกอบการโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารดูแลจัดการเรื่องขยะ มีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะขยะประเภทอาหารที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้มาก ทั้งนี้ หากสิ่งแวดล้อมดี ก็จะส่งผลถึงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจก็จะดีตามไปด้วย และฝากถึงชาวประมงในแต่ละพื้นที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบสัตว์ทะเลหายาก หรือพบการกระทำความผิดต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถแจ้งมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบ และช่วยเหลือได้ทันท่วงที ต่อไป”นายเฉลิมชัยกล่าว

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีเครือข่ายชุมชนชายฝั่งจำนวน 748 ชุมชน มีสมาชิก 19,114 คน โดยจังหวัดประจวบฯ มีเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง 19 ชุมชน จำนวนสมาชิก 599 คน และมีอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลทั่วปะเทศ จำนวน 30,395 คน ประจวบฯ จำนวน 972 คน ส่วนใหญ่เครือข่ายฯ จ.ประจวบฯ มีผลงานเด่นด้านธนาคารปูม้า การทำบ้านปลา/ซั้งปลา ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและเก็บขยะชายหาด อีกทั้งยังเป็นกำลังพลสำคัญที่ช่วยเหลือภารกิจของกรมฯ ทั้งในด้านการฟื้นฟู อนุรักษ์ ป้องกันของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทั้งช่วยสอดส่องดูแลสัตว์ทะเลหายาก สำหรับการจัดประชุมความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประชาชน ชุมชน จึงเป็นช่องทางในการติดต่อประสานงาน สร้างความเข้าใจ รวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แก้ไขปัญหาและมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือ เกิดความสัมพันธ์เป็นเครือข่าย อสทล. อย่างใกล้ชิดและแนบแน่น จนเกิดความเข้มแข็ง มีการทำงานอย่างเป็นรูปแบบและรูปธรรมอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล การมอบโล่ผู้นำชุมชนชายฝั่งตัวอย่าง ให้กับประธานกลุ่มสมาคมประมงหัวหิน ที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การมอบอุปกรณ์เก็บขยะแก่ตัวแทนชุมชนชายฝั่ง การมอบบัตรประจำตัวอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล แก่ตัวแทน อสทล. อีกทั้งมอบงบเงินอุดหนุนชุมชนชายฝั่ง แก่ตัวแทนชุมชนชายฝั่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนชายฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการปลูก บำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยกรมฯ พิจารณาช่วยเหลือหรือสนับสนุน พร้อมกับมอบหมายให้กองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย โดยส่วนส่งเสริมและประสานงานเครือข่ายฯ 1-10 ทำงานร่วมกับภาคประชาชน องค์กร หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านจัดการดูแล รักษาและบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เกิดความร่วมมือในการทำงานร่วมกันกับกรมฯ และประสานความร่วมมือการทำงานภายใต้กรอบความร่วมมือบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย.

Categories
ข่าว ท่องเที่ยว ทั้งหมด

ผู้ว่าฯ เพชรฯ ชวนชิมปูม้าสดจากทะเล ในงานเทศกาลชิมปูชัก @ ชะอำ ครั้งที่ 10

ผู้ว่าฯ เพชรฯ ชวนชิมปูม้าสดจากทะเล ในงานเทศกาลชิมปูชัก @ ชะอำ ครั้งที่ 10

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ชายหาดหน้าโรงแรมลองบีช ชะอำ จ.เพชรบุรี ร.ต.ท. ภพชนก ชลานุเคราะห์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “เทศกาลชิมปูชัก @ ชะอำ ครั้งที่ 10” ระหว่างวันที่ 8 – 15 มีนาคม 2568 บริเวณจุดชมวิวชายหาดชะอำ พร้อมด้วยนายนุกูล พรสมบูรณ์สิริ นายกเทศมนตรีเมืองชะอำ นางดวงใจ คุ้มสอาด ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี นายวสันต์ กิตติกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก ร่วมแถลงข่าว มีนายแก้ว คงวงศ์ นายอำเภอชะอำ นายพัฒนพันธ์ เจือจันทร์ หัวหน้าวนอุทยานเขานางพันธุรัต นางรัมภา จำลองราช ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองชะอำ นายกิติพงษ์ สิริเพชรเกษม อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน/ชะอำ และแขกผู้มีเกียรติร่วมรับฟัง

ร.ต.ท.ภพชนก ชลานุเคราะห์ กล่าวถึงหาดชะอำ ว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียง 2 – 3 ชั่วโมง มีหาดทรายนุ่ม สีน้ำตาลอ่อนราวเปลือกไข่ สะอาด ลมพัดเย็น คลื่นไม่แรงนัก สามารถมาพักผ่อนเดินเล่น สัมผัสน้ำทะเลได้ชิลๆ เพราะมีความเงียบสงบมาก โดยเฉพาะในวันธรรมดา จันทร์ – พฤหัสบดี พอเริ่มศุกร์ – เสาร์ – อาทิตย์ นักท่องเที่ยวจะหนาแน่น แต่ไม่แออัดจนเกินไป นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถริมทะเล วิ่งเฮฮาลงเล่นน้ำทะเลกันได้เลย จนกล่าวกันว่า “หาดชะอำ – ทะเลบ้านฉัน” เสน่ห์อย่างหนึ่งที่น้อยคนนักจะได้สัมผัส เพราะต้องตื่นเช้ากันจริงๆ นั่นคือ ดูพระอาทิตย์ขึ้นหน้าหาด และทำบุญตักบาตรพระภิกษุที่เดินบิณฑบาตยามเช้า รับแสงอรุณสีทองสวยงาม อีกทั้งยังเป็นเมืองชายทะเลที่มีกลุ่มอาชีพชาวประมงพื้นบ้านออกเรือไปหาปู โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนบ้านคลองเทียนและสะพานหิน จะใช้คลองสะพานหินเป็นที่จอดเรือหลบคลื่น ประกอบกับในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปูม้าในทะเลได้มาก อีกทั้งเทศบาลเมืองชะอำได้ส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ปูม้า ด้วยการมอบพันธุ์ปูม้าให้กับชาวประมงและสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารปูม้าของชุมชน เพื่อเป็นการแพร่พันธุ์ปูม้าในท้องทะเลชะอำให้มากขึ้น รวมไปถึงเป็นการส่งเสริมอาชีพชาวประมงพื้นบ้านที่ออกเรือไปหาปูให้คงอยู่ตลอดไป

“ขึ้นชื่อว่า “ปูม้าชะอำ” จะมีความสดและอร่อยมาก เพราะมาจากทะเลชะอำ ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องเนื้อปูที่แน่นและหวานอร่อย ที่สำคัญชาวประมงที่สะพานปูชัก ในพื้นที่ท่าเรือประมง จะใช้วิธีการเก็บรักษาความสดของปู ด้วยการนำปูใส่ถุงตาข่าย ผูกเชือกห้อยกับราวสะพานเหล็ก เมื่อมีลูกค้ามาซื้อ ก็จะไปที่สะพาน จึงเรียกกันว่า “สะพานปูชัก” โดยจุดเด่นของสะพานปูชัก คือการดึงหรือสาวเชือกที่ผูกปูไว้กับตาข่ายและชักปูขึ้นมาเพื่อขายและนำไปประกอบอาหารสู่เมนูสร้างสรรค์ในร้านอาหารและโรงแรมระดับ 3 – 5 ดาว พร้อมให้ทุกท่านได้มาลิ้มลอง จึงเป็นที่มาของชื่อ “ปูชัก” นั่นเอง และด้วยชื่อ “ปูชัก” ที่ตั้งตามลักษณะการขายปูของชาวประมงพื้นบ้านนี้ มีความโดดเด่นเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชะอำในงานนี้” ร.ต.ท.ภพชนก ชลานุเคราะห์ กล่าว

นายนุกูล พรสมบูรณ์สิริ นายกเทศมนตรีเมืองชะอำ กล่าวว่า เทศบาลเมืองชะอำ ร่วมกับ ททท.สำนักงานเพชรบุรี บริษัท สิงห์คอร์เปอเรชั่น จำกัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงชาวชุมชนในเขตเทศบาลเมืองชะอำ กำหนดจัดงานเทศกาลชิมปูชักขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชอบอาหารทะเล โดยเฉพาะปูม้า ได้มาลองลิ้มชิมกันในงาน “เทศกาลชิมปูชัก @ ชะอำ ครั้งที่ 10” โดยภายในงานมีกิจกรรมที่สนใจมากมาย อาทิ การออกร้านจำหน่ายอาหารทะเล เน้นเมนูปูม้าสดๆ ของชาวประมงพื้นบ้านชะอำ และอาหารที่รังสรรค์เป็นพิเศษจากเชฟโรงแรมและร้านอาหารชื่อดังในอำเภอชะอำ ในราคาเหมาะสมกว่า 60 ร้านค้า การจำลองวิถีชีวิตการชักปูของชาวประมง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น บนถนนคนเดินชายหาดชะอำ และการแสดงของศิลปินนักร้องที่ได้รับความนิยมบนเวทีทุกค่ำคืน

นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรม CSR “ปล่อยพันธุ์ลูกปูม้า คืนสู่ทะเล” ทุกวันๆ ละ 4 ล้านตัว ภายในงาน ตั้งแต่เวลา 18.00 – 19.30 น. ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย จึงขอเชิญทุกท่านร่วมงานเทศกาลแห่งวิถีชีวิตและการอนุรักษ์ปูม้าของชะอำ ในเทศกาลชิมปูชัก@ชะอำ ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 8 – 15 มีนาคม 2568 ณ จุดชมวิวชายหาดชะอำ หนึ่งปีมีครั้งเดียว

ด้านนางดวงใจ คุ้มสอาด กล่าวว่า ททท.สำนักงานเพชรบุรี จัดทำแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันธรรมดา “โครงการ รู้เรื่อง…เมืองเพชร” เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าและบริการท่องเที่ยวทางเลือกในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยววันธรรมดา หรือช่วง Off Season และเพื่อตอกย้ำแคมเปญการท่องเที่ยวที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ให้เกิดการรับรู้ และสร้างกระแสตลอดจนกระตุ้นให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเลือกเดินทางมาท่องเที่ยววันธรรมดา ในจังหวัดเพชรบุรีเพิ่มมากขึ้น โดยร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและพันธมิตร สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวแก่งกระจาน จัดกิจกรรมโปรโมชั่นพิเศษส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยววันธรรมดา ภายใต้แคมเปญ “Go Green เพชรบุรี Weekday Special” โดยสถานประกอบการที่พัก ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นโรงแรม/ที่พัก ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ CF Hotel หรือ Star Hotel เป็นโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการโรงแรม/ที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย ททท.สำนักงานเพชรบุรี จะมอบของที่ระลึกสุด Exclusive เป็นเสื้อฮาวายผลิตจากวัสดุพลาสติกรีไซเคิล ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลาย Must Do In Phetchaburi ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวและเข้าพักในวันธรรมดา (วันจันทร์ – พฤหัสบดี) ในโรงแรม/ที่พักในเพชรบุรีที่เข้าร่วมโครงการฯ ฟรี 1 ตัว/คน รวมจำนวนเสื้อกว่า 1,400 ตัว เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม – มิถุนายน 2568 หรือเมื่อครบสิทธิ์ ทั้งนี้ สามารถเช็คสถานประกอบการที่พักที่เข้าร่วมโครงการฯ ภายใต้แคมเปญ “Go Green เพชรบุรี Weekday Special” ได้ที่เฟซบุ๊ก : ททท.สำนักงานเพชรบุรี TAT Phetchaburi หรือที่ ประชาสัมพันธ์ เทศบาลเมืองชะอำ โทร. 032 – 471123.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

เจ้าหน้าที่จับหนุ่มลอบตัดไม้มะริดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานเสด็จในกรมฯ

เจ้าหน้าที่จับหนุ่มลอบตัดไม้มะริด ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานเสด็จในกรมฯ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 นายกิตติศักดิ์ สมศรี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ (ตอนบน) จ.ประจวบฯ รายงานว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานเสด็จในกรมฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปทส. รับแจ้งจากพลเมืองดีว่ามีการลักลอบตัดไม้บริเวณป่าตะบองยักษ์ ท้องที่บ้านทรัพย์สมบูรณ์ หมู่ 7 ต.ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ จึงนำกำลังตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว พบชายต้องสงสัยกำลังเดินอยู่ในแปลงกาแฟ สะพายถุงปุ๋ย มือขวาถือมีดพร้า มือซ้ายถือบาร์เลื่อยยนต์ จึงแสดงตัวและขอตรวจค้น ทราบชื่อว่านายอาวุธ (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี ชาวพัทลุง ตรวจดูในถุงปุ๋ยมีโซ่เลื่อยยนต์ หัวเทียน และอุปกรณ์ซ่อมเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์หลายรายการ โดยสังเกตเห็นว่ามือของชายคนดังกล่าวเปื้อนน้ำมันโซ่ยนต์ จนมีสีดำทั้งสองมือ

เจ้าหน้าที่จึงสอบถามและนำตัวไปยังเพิงพัก พบเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ยี่ห้อ Black Bull (กระทิงดำ) บาร์เลื่อยยนต์ และอุปกรณ์อื่นๆ วางอยู่ใต้ถุนเพิง เมื่อตรวจสอบบริเวณโดยรอบ พบร่องรอยการตัดไม้และแปรรูปไม้ มีเศษขี้เลื่อยใหม่กระจายอยู่ทั่ว จึงเดินตรวจสอบรอยเท้า ซึ่งตรงกับรองเท้าที่ผู้ต้องสงสัยสวมใส่ ไปจนพบไม้มะริดแปรรูป จำนวน 4 แผ่น โดย 3 แผ่น มีการผูกเชือกหัวท้ายและมีคานไม้ไผ่สอดคาเชือก ในลักษณะพร้อมยกขนย้าย แสดงให้เห็นว่ากำลังมีการขนย้ายและทิ้งไม้แปรรูปอย่างเร่งรีบ เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การว่าเข้ามารับจ้างใส่ปุ๋ยต้นกาแฟ และไม่ทราบว่าไม้แปรรูปเป็นของใคร แต่ภายหลังยอมรับว่าไม้แปรรูป เครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ และอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นของตนเอง จึงยึดของกลางทั้งหมด ประกอบด้วย เครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ บาร์เลื่อยยนต์ โซ่เลื่อยยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอีก 15 รายการ รวมถึงไม้มะริดแปรรูป 4 แผ่น มีปริมาตรรวม 0.128 ลูกบาศก์เมตร นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางสะพาน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

ผู้ว่าฯ ประจวบฯ เร่งขับเคลื่อน ‘Next Move Prachuap’ คุมเข้มยาเสพติด ลักลอบเข้าเมือง

ผู้ว่าฯ ประจวบฯ เร่งขับเคลื่อน ‘Next Move Prachuap’ คุมเข้มยาเสพติด ลักลอบเข้าเมือง

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน ผู้ว่าราชการ จังหวัดประจวบฯ เป็นประธานประชุมคณะกรมการจังหวัดประจวบฯ และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัด มีนายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล นายปรีดา สุขใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมประชุม โดยผู้ว่าฯ ประจวบฯ มีข้อสั่งการให้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Next Move Prachuap “ประจวบฯ ต้องไปต่อ” หลังจากที่ผ่านมาได้มีการประชุม Morning Brief ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อพูดคุยติดตามงานที่ได้มอบหมายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละด้าน ซึ่งนโยบายนี้จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยมีการดำเนินโครงการ 100 ชุมชนท่องเที่ยว Wellness Economy ทำให้จังหวัดประจวบฯ เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว รวมถึงแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น เรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค การแก้ไขปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตร

นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ มีข้อสั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย – เมียนมา เฝ้าระวังตรวจตราสิ่งผิดกฎหมาย และการลักลอบเข้าเมืองของคนต่างด้าวอย่างเข้มงวด เนื่องจากขณะนี้มีรายงานว่าทางฝั่งเมียนมายังมีเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่ในพื้นที่บ้านไทยสิงขร ห่างจากชายแดนด่านสิงขรประมาณ 50 กิโลเมตร ส่วนเรื่องมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด หลังจากที่ได้เปิดปฏิบัติการ Re-Xray ในพื้นที่ต้นแบบที่หัวหินเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลดำเนินการในอีก 7 อำเภอ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับมาตรการตรวจคัดกรองหาสารเสพติดในกลุ่มเป้าหมายอายุ 12 – 65 ปี ในหมู่บ้าน ชุมชนทุกตำบล เพื่อให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจปัสสาวะ ซึ่งหากพบผู้เสพก็จะนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา พร้อมขยายผลถึงผู้ค้า เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังจากที่ผ่านมาได้ขยายผลถึงขบวนการค้ายาเสพติดจำนวน 437 เครือข่าย

ด้านนายปรีดา สุขใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ กล่าวว่า จากการที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ได้ศึกษาการท่องเที่ยว บนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดประจวบฯ ได้แก่ปราณบุรี สามร้อยยอด และกุยบุรี ซึ่งถือเป็นจังหวัดนำร่องของประเทศ ขณะนี้การศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวพร้อมเร่งดำเนินการตามแผนในพื้นที่ ที่ได้ทำการศึกษา และจะมีการขยายไปถึง 5 อำเภอที่เหลือด้วย ซึ่งจะเชื่อมโยงกับนโยบาย Next Move Prachuap “ประจวบฯ ต้องไปต่อ” ที่เป็นนโยบายสำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

ตำรวจท่องเที่ยวหัวหิน อบรมอาสาสมัครเพื่อดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวรุ่นแรก

ตำรวจท่องเที่ยวหัวหิน อบรมอาสาสมัครเพื่อดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวรุ่นแรก

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 พ.ต.ต.ภัคพันธุ์ อิงคะสุร สารวัตรสถานีตำรวจท่องเที่ยว 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 3 เป็นประธานเปิดโครงการอบรมอาสาสมัครเพื่อดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว พ.ศ 2568 รุ่นที่ 1 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์บีช รีสอร์ทแอนด์วิลล่า หัวหิน มี ร.ต.อ.อภิวิชญ์ สนใจ รองสารวัตร สถานีตำรวจท่องเที่ยว 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 3 กล่าวรายงาน มีนายคนิศน์ โชคสุชาติ ประธานที่ปรึกษาตำรวจท่องเที่ยวหัวหิน พร้อมคณะที่ปรึกษาสถานีตำรวจท่องเที่ยวหัวหิน และอาสาสมัคร จำนวน 136 คน เข้าร่วม

พ.ต.ต.ภัคพันธุ์ อิงคะสุร กล่าวว่า สถานีตำรวจท่องเที่ยว 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการให้บริการและการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล รวมถึงประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 13 ของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย มุ่งเน้นการสร้างความเจริญทางการท่องเที่ยวให้เข้าทั่วถึงทุกพื้นที่ แม้ว่ากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวจะมีกำลังพลไม่เพียงพอในการปฏิบัติภารกิจ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการสร้างภาคีเครือข่าย โดยมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นอาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั่วประเทศ โดยอาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล และสนับสนุนการปฏิบัติงานภายใต้อำนาจหน้าที่ภารกิจและความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวเล็งเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าวที่จะต้องจัดอบรมอาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยว เพื่อดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวในปีงบประมาณ 2568 เพื่อให้มีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ มีดังนี้ 1. เพื่อให้อาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวมีความรู้ ความเข้าใจ ภารกิจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และภารกิจหน้าที่ของอาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยว เช่น การสังเกตดำหนิรูปพรรณคนร้าย การแจ้งข้อมูลข่าวสาวสาร การติดต่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุ 2. เพื่อให้อาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวมีความรู้ ความเข้าใจในงานการบริการและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว 3. เพื่อให้อาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวมีความรู้ ความเข้าใจในแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ข้อมูล ท้องถิ่น ในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในกรณีประสบเหตุ ให้สอดคล้องกับสภาพแหล่งท่องเที่ยว 4. เพื่อให้อาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวมีความรู้ความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ เกี่ยวกับด้านยุทธวิธีในการปฏิบัติงาน สามารถทำหน้าที่ในการร่วมปฏิบัติงานกับตำรวจท่องเที่ยว ภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

โรตารีหัวหิน ร่วมกับสาธารณสุขหัวหิน เซ็น MOU ช่วยผู้ติดเตียงและผู้มีภาวะพึ่งพิง

โรตารีหัวหิน ร่วมกับสาธารณสุขหัวหิน เซ็น MOU ช่วยผู้ติดเตียงและผู้มีภาวะพึ่งพิง

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 นางวิรังรอง จักรมณี นายกสโมสรโรตารีหัวหิน และนายเจนวิท ผลิศักดิ์ สาธารณสุขอำเภอหัวหิน ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ที่จะร่วมกันช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงและผู้มีภาวะพึ่งพิงในอำเภอหัวหิน ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีเครือข่ายสาธารณสุขในเขตอำเภอหัวหิน โรงพยาบาลหัวหิน สถานีกาชาดหัวหินเฉลิมพระเกียรติ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองหัวหิน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเขตพื้นที่อำเภอหัวหิน ผู้แทนสโมสรโรตารี เหรัญญิกและคณะกรรมการ ร่วมเป็นสักขีพยาน

การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันนี้ เป็นโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงที่มีรายได้น้อย จัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้ยืมตามความเหมาะสม และจัดทำบัญชีทรัพย์สิน จัดการอบรมวิธีการใช้ โดย สสอ.เป็นผู้ดูแล, การบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์โดย วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล, การช่วยเหลือผู้ชำนาญทางด้านเทคนิค โดยโรงพยาบาลหัวหินและสโมสรโรตารีหัวหิน จะเข้าเยี่ยมตรวจเช็คเครื่องมือและอุปกรณ์ ปีละ 2 ครั้ง

นอกจากนี้สโมสรโรตารีหัวหิน ยังร่วมกับสาธารณสุขอำเภอหัวหิน ร้านอาหารอีสานบ้านสวน และห้างวรรณาปราณีซุปเปอร์สโตร์ จัดโครงการธนาคารเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ มูลค่า 150,000 บาท มอบให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอหัวหินอีกด้วย อาทิ เตียงผู้ป่วย ที่นอนลม เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยสาธารณสุขอำเภอหัวหินจะนำเครื่องมือดังกล่าวไปช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง และผู้มีภาวะพึ่งพิงในอำเภอหัวหินต่อไป.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

โลมาหัวบาตร ตายเกยหาดหัวหิน คาดน็อกน้ำจากมรสุม

โลมาหัวบาตร ตายเกยหาดหัวหิน คาดน็อกน้ำจากมรสุม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ศูนย์วิทยุรับแจ้งเหตุ 191 สภ.หัวหิน จ.ประจวบฯ รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวว่า พบซากโลมาตายเกยตื้น บริเวณชายหาดหน้าคอนโดบ้านปลายหาดขาว ถนนหนองแก – ตะเกียบ เขตเทศบาลเมืองหัวหิน จึงประสานมูลนิธิสว่างหัวหินธรรมสถานรุดไปตรวจสอบ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติยืนมุงดูด้วยความสนใจ พบเป็นโลมาอิรวดี หรือโลมาหัวบาตรหลังเรียบที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ไม่ทราบเพศ อายุประมาณ 1 ปี ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตรเศษ กว้างเกือบ 2 ฟุต สภาพขึ้นอืด ผิวหนังเริ่มลอกเป็นแห่งๆ จนถึงครีบหาง ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว ตรวจตามลำตัวไม่พบบาดแผลใดๆ คาดว่าตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 วัน ส่วนสาเหตุเบื้องต้นคาดว่าโลมาตัวดังกล่าวคงหลงฝูงในทะเลอ่าวไทย แล้วเกิดอาการน็อกน้ำเสียชีวิตจากมรสุมคลื่นลมแรง ก่อนถูกน้ำพัดลอยมาเกยฝั่ง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ นำซากโลมาไปเก็บรักษา เพื่อรอเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จ.ชุมพร มาตรวจหาสาเหตุการตายอีกครั้งหนึ่งต่อไป.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

ทส.รวมพลัง เพชรบุรี – ประจวบฯ แก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ลดฝุ่นละออง PM 2.5

ทส.รวมพลัง เพชรบุรี – ประจวบฯ แก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ลดฝุ่นละออง PM 2.5

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ สำนักงานเทศบาลตำบลหนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ เป็นประธานเปิดกิจกรรม“24 ก.พ.วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่าและฝุ่นละออง PM 2.5”สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี โดยมีนายนพพร ประทุมเหง่า ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้าหน่วยงานภาคสนามและเจ้าหน้าที่ นายเกรียงไกร ทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ กองกำลังทหารจากชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน กองกำลังสุรสีห์ ที่ 110 หน่วยจงอางศึก ฐานปฏิบัติการบ้านป่าละอู หมวดลาดตระเวนที่ 3 ชุดรักษาความปลอดภัยช้าง หน่วยเฉพาะกิจทัพพญาเสือ เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.อส.) นายเกรียงไกร ทวีกาญจน์ นายกเทศมนตรีตำบลหนองพลับ ผู้นำชุมชนและพี่น้องประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน

โดยกิจกรรมประกอบด้วยการมอบเสบียงอาหารให้แก่ชุดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดับไฟป่า เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน มอบเครื่องเป่าลม จำนวน 15 เครื่อง ให้กับเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.อส.) รวมไปถึงยังได้มอบเงินสนับสนุนให้กับเครือข่ายราษฎรพิทักษ์ป่า จำนวน 65 เครือข่าย รวมเป็นเงิน 4,250,000 บาท เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เครือข่ายเฝ้าระวังไฟป่า เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่า รวมไปถึงเครือข่ายการส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎร

นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการ ทสจ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ขณะนี้ประเทศไทยของเรา กำลังประสบกับปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น และมีค่าเกินมาตรฐานในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุของการเกิดปัญหาดังกล่าวนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายประการ ทั้งควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันที่ถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างต่างๆ การเผาเศษวัสดุเพื่อทำการเกษตร รวมไปถึงปัญหาจากการเกิดไฟป่า ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มอบนโยบายเชิงรุกเพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา

รวมไปถึงได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการติดตามสถานการณ์ไฟป่า ทั้งอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และระบบติดตามจุดความร้อน (Hotspot) ผ่านดาวเทียม พร้อมทั้งบูรณาการส่งเสริมความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเป็นนโยบายเชิงรุก ด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน ขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน ในการไม่จุด ไม่เผา ไม่ก่อให้เกิดควันพิษ ทั้งในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า และในโอกาสนี้ ขอฝากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ร่วมมือกัน ไม่จุดไฟ ไม่เผาป่า ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นควันพิษ ทำให้จังหวัดของเรามีอากาศที่บริสุทธิ์สดใส ไร้ฝุ่น PM 2.5 ตลอดไป.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

กรมศิลปากร แถลงพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งเก่าแก่ที่สุดในไทย ในอุทยานเขาสามร้อยยอด

กรมศิลปากร แถลงพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งเก่าแก่ที่สุดในไทย ในอุทยานเขาสามร้อยยอด

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง (สมัยไพลสโตซีน) และภาพเขียนสีโบราณที่แหล่งโบราณคดีถ้ำดิน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเขาแดง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบฯ มีนายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ นายพิศิษฐ์ เจริญสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นางกฤษณา แผ่แสงจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดประจวบฯ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นักโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คณะเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง พร้อมทั้งจัดแสดงโบราณวัตถุบางส่วนที่ได้จากการขุดค้นพบภายในแหล่งโบราณคดีถ้ำดิน และการจัดแสดงภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรในโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณในครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีภายในถ้ำดิน เขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ถือเป็นการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด เท่าที่เคยค้นพบมาในประเทศไทย สันนิษฐานว่าโครงกระดูกนี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 29,000 ปี ร่วมสมัยกับยุคน้ำแข็งตอนปลาย ทำให้ทราบว่าแผ่นดินไทยนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่นานมาแล้วนับหมื่นปีก่อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลการศึกษาเพิ่มเติม ขณะเดียวกันทราบว่าผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญมาก อาจจะนำไปสู่การค้นพบใหม่ๆ เพิ่มเติมได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบนิเวศ โครงกระดูกสัตว์ พันธุ์พืชต่างๆ จะช่วยเติมเต็มข้อมูลการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ในสมัยนั้นเพื่อเป็นความรู้สู่คนรุ่นต่อๆ ไป นอกจากนี้ กรมศิลปากรจะเกาะติดการศึกษาในเรื่องนี้และจะมีการตีพิมพ์รายงานการศึกษา ซึ่งในปีนี้ถึงปีหน้า กรมศิลปากรจะทำการศึกษาอย่างจริงจังและมีโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีอีกหลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ เมื่อสำรวจแล้วจะนำไปสุ่การขุดค้น เมื่อขุดค้นพบวัตถุโบราณก็จะมีการนำมาวิเคราะห์หลักฐาน ศึกษาเข้มข้นขึ้นจนได้ข้อสรุปต่อไป

ด้านนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายให้จังหวัดประจวบฯ เป็นพื้นที่นำร่องพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การค้นพบโบราณวัตถุในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงกับเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดได้ ซึ่งจะมีการประสานการทำงานกับกรมศิลปากร ร่วมกันกำหนดพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสมต่อไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยปัจจุบันเส้นทางการท่องเที่ยวถ้ำดินยังไม่มีความพร้อมและยังไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแหล่งโบราณคดีถ้ำดินแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ดำเนินโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพื่อศึกษาร่องรอยการอยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวทางมรดกศิลปะวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดในอนาคต โดยพบหลักฐานการอยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินเก่า – สมัยหินกลาง กำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ (AMS) ได้ประมาณ 29,000 – 10,000 ปีมาแล้วภายในถ้ำดิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 คูหา โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นในปีงบประมาณ 2565 – 2566 ประกอบด้วย กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เมล็ดพืช และหิน และในปีงบประมาณ 2567 พบหลักฐานสำคัญในระดับความลึกที่ 190 – 195 เซนติเมตร จากระดับพื้นถ้ำปัจจุบัน เป็นหลักฐานการฝังศพโครงกระดูกจำนวน 1 โครง จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าเป็นโครงกระดูกเด็ก อายุขณะเสียชีวิต คาดว่าอยู่ในช่วงประมาณ 6 – 8 ปี

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นในขณะนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในถ้ำดิน เมื่อประมาณ 20,000 กว่าปีมาแล้ว มีความเกี่ยวโยงเป็นเจ้าของภาพเขียนสีที่พบภายในถ้ำและตามเพิงผาในบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอด ซึ่งขณะนี้กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางที่จะวิเคราะห์ค่าอายุภาพเขียนสีโดยตรงต่อไป.