Categories
ข่าว ทั้งหมด

สามร้อยยอด สืบสานประเพณีบุญล่องแพ แห่พระ ครั้งที่ 9 เนื่องในวันออกพรรษา

สามร้อยยอด สืบสานประเพณีบุญล่องแพ แห่พระ ครั้งที่ 9 เนื่องในวันออกพรรษา

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ เป็นประธานเปิดกิจกรรมงานประเพณีบุญล่องแพ แห่พระ ครั้งที่ 9 ที่ลานสำนักสงฆ์วัดป่าช้างขาว บ้านป่าหมาก หมู่ 8 ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบฯ เนื่องในวันออกพรรษาของชุมชนบ้านป่าหมาก มีนายณธกร เต็มชยกุล ปลัดอาวุโส อ.สามร้อยยอด นางกฤษณา แผ่แสงจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดประจวบฯ นายชาญวิทย์ อุณหสุทธิยานนท์ ประธานสภาวัฒนธรมจังหวัดประจวบฯ นายอาชวันต์ กงกะนันทน์ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานประจวบฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ แต่งกายชุดประจำเผ่ามาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง

โดยในช่วงเช้ามีพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง จากนั้นมีการแสดงของเด็กๆ เชื้อสายกะเหรี่ยงจากศูนย์เด็กเล็กบ้านป่าหมากขึ้นแสดงบนเวที สร้างสีสันความสนุกสนานได้เป็นอย่างดี ต่อด้วยการละเล่นกระทบไม้ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงซึ่งถือเป็นการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์และประวัติอันยาวนาน จากนั้นเป็นการนำพระพุทธรูปปางนาคปรกขึ้นบนแพ มีหลวงพ่อปฐมพร ปฐมวโร ประธานสงฆ์ วัดพุทธอุทยานวัดป่าช้างขาว พร้อมด้วยคณะสงฆ์ คณะรองผู้ว่าราชการจังหวัด ล่องแพไปตามลำห้วยระยะทาง 100 เมตรไปกลับ 3 รอบ เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้สัการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ขอให้หมู่บ้านมีความร่มเย็นเป็นสุข ส่วนในช่วงบ่ายมีการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ มีการแข่งถ่อแพ แข่งมวยลำห้วย เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างความสนุกสนาน และความสามัคคีของชาวบ้านอีกด้วย

หลวงพ่อปฐมพร ปฐมวโร ประธานสงฆ์วัดพุทธอุทยานวัดป่าช้างขาว กล่าวว่า การล่องแพเป็นวิถีชีวิตเดิมของชนเผ่ากะหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ ซึ่งมีมานานแล้วก่อนที่หลวงพ่อจะมา ชาวบ้านกลุ่มนี้เขาอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำสายนี้ตั้งแต่บนสุด คือตั้งแต่ชายแดนลงมาจนเกือบถึงแม่น้ำปราณบุรี ปัจจุบันมารวมตัวกันตั้งหมู่บ้าน โดยเริ่มตั้งมาประมาณปี 2549 ประเพณีแห่พระ ส่วนใหญ่จะมีอยู่ทางใต้ ตรงนี้เดิมเขานับถือเทวดา นับถือผี ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม แต่พอมีชาวบ้านเริ่มมานับถือศาสนาพุทธ เริ่มเปลี่ยนมาใช้วิถีชีวิตแบบชาวพุทธ อาตมาเห็นว่าควรจะมีประเพณีที่สอดคล้องกัน เห็นว่าในช่วงฤดูกาลออกพรรษา จะมีการแห่พระรอบชุมชนและนำลงแพล่องในลำห้วย เป็นกุศโลบายในการที่จะสื่อความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งในการจัดงานจะต้องมีการเตรียมงานต้องแบ่งหน้าที่กันไป เป็นการสร้างความรัก ความสามัคคีให้ชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่จะให้เด็กๆ ได้กลับมาบ้าน หรือว่าคนหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ได้มีโอกาสถึงวันออกพรรษาแล้วกลับมาบ้านด้วย.

ข่าวแนะนำ
Categories
สังคม

พิธีส่งมอบบัตรประชาชนจิตอาสา และสิ่งของพระราชทาน

ข่าวสังคม

สมเจตร์ เจริญทรง นายอำเภอทับสะแก เป็นประธานในพิธีส่งมอบบัตรประชาชนจิตอาสา และสิ่งของพระราชทาน หมวก ผ้าพันคอจิตอาสาพระราชทาน ให้จิตอาสาพระราชทานอำเภอทับสะแก จำนวน 75 ราย ที่หอประชุมอำเภอทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีกิตติรัตน์ ส้มแป้น ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง วิยะรัตน์ หนูเอก ฉัตรชัย ค้างาม นฤมิต อ่อนคู ปลัดอำเภอ พร้อมด้วยสมาชิก อส.ทับสะแกที่ 6 พนักงาน เจ้าหน้าที่ ที่ทำการปกครองอำเภอทับสะแก กำนัน ผู้ใหญ่บ้านร่วมพิธีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566.

ณัฐธภพ พันสาย….รายงาน

Categories
ข่าว ทั้งหมด

โรงพยาบาลประจวบฯ ต้อนรับผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนใหม่ ลำดับที่ 18

โรงพยาบาลประจวบฯ ต้อนรับผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนใหม่ ลำดับที่ 18

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 นพ.จุมพล ฟูเจริญ รองผู้อำนวยการภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ, นพ.วัชรพงษ์ เหลืองไพรัตน์ รองผู้อำนวยการภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ, นายอุดมศักดิ์ แสงวณิช รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร, น.ส.รัฏฐากร แสงเทียนทอง รองผู้อำนวยการภารกิจด้านการพยาบาล, นพ.อธิศ พุกโพธิ์ รองผู้อำนวยการภารกิจด้านดิจิทัลการแพทย์ คณะกรรมการบริหาร คณะแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ให้การต้อนรับและร่วมแสดงความยินดีกับ นพ.สุรัตน์ ส่งวิรุฬห์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ที่เดินทางมารับตำแหน่งใหม่ด้วยบรรยากาศอบอุ่น

ในโอกาสนี้ พญ.สุพรรณี ประดิษฐ์สถาวงษ์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์, พญ.นิดา สาดตระกูล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบลสิงห์บุรี, นพ.สุทธิพงษ์ ศิริมัย อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า, นพ.ศุภชัย ศุภพฤกษ์สกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบฯ, นพ.จิตตรัตน์ เตชวุฒิพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวหิน, นายพลสิต เวที รักษาการสาธารณสุขอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ คณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเขตอำเภอเมืองฯ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี ร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องคีรีขันธ์ ชั้น 5 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์.

Categories
ข่าว ท่องเที่ยว ทั้งหมด

ปราณบุรีจัดกิจกรรมแอดแวนเจอร์ พายเรือคายัค ล่องแม่น้ำปราณบุรี

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายปรีดา สุขใจ นายอำเภอปราณบุรี พร้อมด้วยกลุ่มเครือข่ายรักษ์แม่น้ำปราณบุรี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวปราณบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ นำเรือคายัค 10 ลำ พายในแม่น้ำปราณบุรี ระยะทาง 4 กิโลเมตร ตั้งแต่พื้นที่ ต.หนองตาแต้ม อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเปิดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชอบแสวงหาความตื่นเต้นและ แปลกใหม่ในสภาพธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ พร้อมความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และได้ออกกำลังกายด้วยการล่องแม่น้ำในชื่อ “พายคายัค ล่องแม่น้ำปราณบุรี” เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอปราณบุรี ซึ่งมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไม่แพ้อำเภออื่นๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพราะปราณบุรีมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล และภูเขา โดยเฉพาะแม่น้ำปราณบุรี เป็นหัวใจหลักและสำคัญที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถพัฒนาได้อีกด้วย

นายปรีดา สุขใจ นายอำเภอปราณบุรี กล่าวว่า การเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ในแม่น้ำปราณบุรีนั้น แบ่งการท่องเที่ยวเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. ต้นน้ำในตำบลเขาจ้าว 2. เขื่อนปราณบุรี 3.แม่น้ำปราณบุรี โดยแม่น้ำปราณบุรีมีระยะทางจากเขื่อนปราณบุรี – ไปออกทะเลที่ปากน้ำปราณ มีระยะทาง 60 กิโลเมตร ซึ่งถ้าจะล่องแม่น้ำปราณบุรีทั้งเส้นทาง อาจต้องใช้เวลาถึง 3 วัน ดังนั้นเส้นทางที่นำมาทำกิจกรรม “พายคายัค ล่องแม่น้ำปราณบุรี” มีระยะทาง 4 กิโลเมตร เพื่อความเหมาะสมกับสภาพแม่น้ำที่มีความคดเคี้ยว มีแก่งต่างๆ ตลอดสองข้างทางที่พายเรือคายัคผ่านนั้น ไม่มีบ้านเรือนประชาชนอาศัยอยู่ ยังคงเป็นผืนป่าธรรมชาติ รวมทั้งยังมีนกนานาชนิดอยู่ในผืนป่า และมีรังนกกระจาบจำนวนมากตามต้นไม้ให้เห็นตลอด ต้นมะเดื่อขนาดใหญ่ ต้นรวงผึ้ง ที่สำคัญระดับน้ำไม่ลึก มีความปลอดภัย เพราะนักท่องเที่ยวต้องสวมใส่เสื้อชูชีพ สามารถเลือกพายคายัคได้ตั้งแต่ช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสอาด เจ้าของบ้านปลายน้ำโฮมสเตย์ กล่าวว่าแม่น้ำปราณบุรี มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ตลอดสองฝั่งของแม่น้ำปราณบุรี มีพันธุ์ไม้ดั้งเดิมอยู่หลายชนิด ทั้งต้นจิก ต้นผึ้ง ต้นมะเดื่อ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของนก จากการสำรวจพบว่าในบริเวณแม่น้ำปราณบุรี มีนกกว่า 50 ชนิด ในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว น้ำในแม่น้ำจะใส สะอาด ด้านล่างมีพืชน้ำหลายชนิด ซึ่งเส้นทางที่จะเปิดให้พายคายัค มีความเป็นธรรมชาติ มีแก่งเป็นระยะ เรียกว่าเป็นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแบบผจญภัย และต้องขอบคุณอำเภอปราณบุรี ที่ให้ความสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวของอำเภอปราณบุรี ในช่วงปลายปี เพราะจะทำให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งที่พัก ร้านอาหาร นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลการพายคายัค ล่องแม่น้ำปราณบุรี ได้ที่บ้านปลายน้ำโฮมสเตย์ โทร. 086 – 3399694.

สมบัติ ลิมปจีระวงษ์….รายงาน

 

 

Categories
ข่าว ท่องเที่ยว ทั้งหมด

อุทยานแก่งกระจานเปิด 1 พ.ย.นี้ สัมผัสทะเลหมอก – ชมสัตว์ป่านานาชนิด

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) เพชรบุรี เปิดเผยว่าวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวบริเวณเขาพะเนินทุ่ง น้ำตกทอทิพย์ บ้านกร่าง ห้วยแม่สะเรียง บ้านโป่งลึกบางกลอยและน้ำตกผาน้ำหยด หลังปิดไปนาน 3 เดือน โดยอุทยานฯ ได้เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ การบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก มาตรการความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวได้เดินทางไปสัมผัสธรรมชาติทะเลหมอกที่บริเวณพะเนินทุ่ง ที่มีความสวยงามเนื่องจากเป็นฤดูปลายฝนต้นหนาว ดอกไม้ป่าเริ่มออกดอกสร้างสีสันสวยงาม สัตว์ป่านานาชนิด ให้นักท่องเที่ยวได้มีความรู้ในการมาท่องเที่ยว และมีความประทับใจกลับไป

ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สามารถใช้เวลาว่างเดินทางมาท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ได้สะดวก มาท่องเที่ยวเชิงนิเวศธรรมชาติ ให้ช่วยกันดูแลและปฏิบัติตามข้อกำหนดของทางอุทยาน ไม่ขับรถเร็ว ไม่ดื่มสุรา ไม่ทิ้งขยะในพื้นที่อุทยาน เพราะบริเวณที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวมีความอุดมสมบูรณ์ และชุกชุมของสัตว์ป่านานาชนิด นกหายาก จุดชมวิวทะเลหมอกเขาพะเนินทุ่ง และสัตว์ป่านานาชนิด โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานคอยดูแลนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) โทร 032 – 772311.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

ททท.เพชรบุรี ชวนชมการแสดง 100 ปี มัทนะพาธา ระดมทุนบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 น.ส.เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเพชรบุรี เปิดเผยว่า พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี อีกทั้งยังได้รับรางวัล New Design in Heritage Context with Special Recognition for Sustainable Development จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ยูเนสโกประกาศให้จังหวัดเพชรบุรี เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์อาหาร และกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี มีโครงการระดมทุนเพื่อการอนุรักษ์และบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกบูรโณปถัมภ์และจัดการแสดงการอ่านบทพระราชนิพนธ์มัทนะพาธา หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบประกอบการแสดงและดนตรี เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี บทพระราชนิพนธ์ ในวันเสาร์ที่ 25 และวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.00 น. ณ สวนมัทนะพาธา พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จึงขอเชิญชวนผู้สนใจมาท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรีและร่วมชมการแสดงดังกล่าว

น.ส.เกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในพระอุปถัมภ์ฯ เปิดเผยว่า พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จะกลับมาเปิดเป็นปกติตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 แต่ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการบูรณะ ทั้งในส่วนของระบบนิเวศตามธรรมชาติและศิลปะวัฒนธรรมฯ เพื่อการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงขอเชิญผู้สนใจร่วมรักษาและสืบทอดมรดกของชาติ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกบูรโณปถัมภ์ซึ่งเป็นสมาชิกตลอดชีพ เพื่อร่วมระดมทุนในการอนุรักษ์และบูรณะพระราชนิเวศน์ฯ โดยเฉพาะการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาจำนวนกว่าแสนแผ่น ซึ่งมีน้ำหนักเกินไปแผ่นละ 1 กิโลกรัม และส่งผลกระทบต่อฐานรากของตัวอาคารในปัจจุบัน ค่าสมัครสมาชิกจำนวน 6,910 บาท สามารถบริจาคได้เต็มจำนวน หรือแบ่งจ่ายได้ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-donation) และเปิดรับสมัครเพียง 109,600 รายเท่านั้น (ช่องทางสมัครสมาชิกบูรโณปถัมภ์ : https://forms.gle/gQL9CwgBESvfRiBn9)

สำหรับการแสดงการอ่านบทพระราชนิพนธ์มัทนะพาธา หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบประกอบการแสดงและดนตรี เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี บทพระราชนิพนธ์ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน ศกนี้ เป็นการเลือกบทพระราชนิพนธ์เฉพาะบางตอนมาเรียบเรียง กำกับการแสดงโดยครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ และกำกับดนตรีโดยอานันท์ นาคคง ศิลปินศิลปาธร นักแสดงนำได้แก่ สุกัญญา สมไพบูลย์ (มัทนา) และอัษฎาวุธ เหลืองสุนทร (สุเทษณ์ / ชัยเสน) ศันสนีย ศีตะปัณย์ (จัณฑี) เปิดจำหน่ายบัตรที่นั่งชมการแสดงตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป รายละเอียดบัตรเข้าชม 1.บัตรที่นั่งสำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 1,690 บาท (มีจำนวนจำกัด 100 ที่นั่งต่อวัน) 2.บัตรที่นั่งสำหรับสมาชิกบูรโณปถัมภ์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และบัตรที่นั่งสำหรับผู้ติดตาม 1 ท่าน ที่มาชมการแสดงพร้อมกับสมาชิกฯ ราคา 690 บาท (มีจำนวนจำกัด 300 ที่นั่งต่อวัน และขอความกรุณาแจ้งสำรองที่นั่งล่วงหน้า) ช่องทางซื้อบัตร : https://forms.gle/FCL37hmbwN6PhLmw9 ) สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา จะเปิดรอบซ้อมใหญ่ให้เข้าชมได้ในวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่จำกัดที่นั่ง แต่ขอความกรุณาแจ้งสำรองที่นั่งเป็นการล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชม ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และ ททท.สำนักงานเพชรบุรี.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

ประจวบฯ จัดเดินแฟชั่นโชว์ “เดินแบบผ้าไทย ใส่ให้สนุก”

ช่วงค่ำวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ดร.เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานและเดินแบบผ้าไทยในงานประเพณีตักบาตรเทโว เขาช่องกระจก ประจำปี พ.ศ. 2566 ที่เวทีกลางบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดประจวบฯ ในกิจกรรม “เดินแบบผ้าไทย ใส่ให้สนุก” มีว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายดำรงค์ มากระจัน พัฒนาการจังหวัดประจวบฯ พ.ต.อ.ไพทูล พรมเขียน ผกก.สภ.เมืองประจวบฯ นายกมล แก้วเทศ นายกเทศมนตรีเมืองประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน ชมการเดินแบบแฟชั่นโชว์ผ้าไทยจากบรรดาเหล่านางแบบ – นายแบบกิตติมศักดิ์อย่างสวยงามตระการตา

ดร.เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมยินดีที่หน่วยงานทั้งระดับจังหวัดและท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย นับเป็นการน้อมนำแนวพระดำริผ้าไทยใส่ให้สนุกของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาปฏิบัติและสร้างการรับรู้โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ให้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ผ้าไทย ศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่สืบไป

สำหรับการจัดงานประเพณีตักบาตรเทโว เขาช่องกระจก ประจำปี พ.ศ. 2566 ในภาคเช้า มีกิจกรรมตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง จัดขบวนรถบุษบก หรือเรือชักพระของชมรมชาวใต้ ขบวนพุทธศิลป์ ส่วนกิจกรรมในภาคกลางคืน เริ่มวันที่ 30 ตุลาคม – วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มีกิจกรรมเดินแบบผ้าไทย ภายใต้ชื่อกิจกรรม “การเดินแบบผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ซึ่งเทศบาลจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านวัฒนธรรมการแต่งกายผ้าไทยและผ้าในท้องถิ่น เพื่อสืบสานการใช้และสวมใส่ผ้าไทยตามความเหมาะสมของท้องถิ่น เพื่อสร้างการรับรู้และปลูกฝังความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน เปิดอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานให้กลุ่มสตรีเมืองหัวหิน

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นพ.พงษ์ศักดิ์ บุญยะลีพรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน จ.ประจวบฯ เป็นประธานเปิดโครงการ BDMS อบรมการช่วยชีวิต รุ่นที่ 24 มีนางปรานอม ชูภู่ ประธานชมรม Hua Hin Women’s Club และสมาชิกฯ, น.ส.สุธาสินี พรมเลี่ยม กรรมการผู้จัดการบริษัท วาร์ดา บายสินี และครอบครัว Varda by Sinee, นายวิสุทธิ์ บุญยศักดิ์เสรี รองประธานมูลนิธิสว่างหัวหินธรรมสถาน และคณะกรรมการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กว่า 50 คน ร่วมในการอบรม ที่ห้องประชุมโรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน ตั้งเป้าหมายในการอบรมการช่วยชีวิตให้กับสุภาพสตรีเมืองหัวหิน ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการช่วยชีวิตผู้ป่วยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนได้อย่างถูกวิธีก่อนส่งถึงมือแพทย์ การอบรมจะมีทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติในการกู้ชีพด้วยการปั๊มหัวใจ (CPR) กับหุ่นฝึก ร่วมกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) การช่วยเหลือผู้ป่วยสำลักอุดกั้นทางเดินหายใจ (Choking) และ First Aid การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับมอบประกาศนียบัตรจาก BDMS ตามแนวคิดที่ว่าแม้ไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หากเรามีองค์ความรู้และมีความมั่นใจ ผ่านการอบรมและฝึกปฏิบัติจริง โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญภายใต้หลักการที่เป็นสากล

นางปรานอม ชูภู่ กล่าวว่า ชมรม Hua Hin Women’s Club ร่วมมือกับโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหินจัดกิจกรรมนี้ เพราะเห็นถึงความสำคัญของการช่วยชีวิต จึงอยากให้สมาชิกชมรมได้รับความรู้ และสามารถนำไปใช้ในการดูแล ลูกๆ สามี และครอบครัวได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย.

 

 

Categories
ข่าว ทั้งหมด

ชาวประจวบฯ ร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรเทโว ในเทศกาลออกพรรษา

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการประจวบฯ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีเมืองประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ร่วมงานประเพณีตักบาตรเทโว เขาช่องกระจก เนื่องในเทศกาลออกพรรษา ประจำปี 2566 ที่บริเวณหน้าศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 23 เพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามที่สืบทอดมาแต่โบราณให้คงอยู่ตลอดไป โดยมีประชาชนนับพันคนพร้อมใจแต่งกายด้วยชุดผ้าไทยมาร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระสงฆ์กันอย่างเนืองแน่นตลอดสองฝั่งถนนสละชีพ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ท่ามกลางฝนโปรยปราย ขณะที่เทศบาลเมืองประจวบฯ ได้จัดขบวนบุษบก ขบวนเรือพระ ขบวนแห่พุทธศิลป์จาก 15 ชุมชน เคลื่อนขบวนไปตามถนนสายต่างๆ ภายในเขตเทศบาลให้ประชาชนได้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจร่วมชมบรรยากาศงานประเพณีตักบาตรเทโวเขาช่องกระจกอย่างคึกคัก พร้อมกันนี้ เทศบาลเมืองประจวบฯ ร่วมกับวัดธรรมิการามวรวิหารและชมรมส่งเสริมสินค้าไทย กำหนดจัดงานประเพณีตักบาตรเทโว เขาช่องกระจก ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 8 พฤศจิกายน บริเวณหน้าวัดธรรมิการามวรวิหารและหน้าศาลากลางจังหวัด

ส่วนที่อำเภอหัวหิน นายพิษณุ กล้าขาย อดีต ส.อบจ.ประจวบฯ และประชาชนจำนวนมาก ร่วมงานทำบุญประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ ที่บริเวณหินลาด วัดเขาไกรลาศ หมู่บ้านเขาตะเกียบ โดยมีเหล่านางฟ้ารำเป็นขบวนนำพระสงฆ์จำนวน 39 รูป เพื่อมารับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้ง ซึ่งประเพณีดังกล่าวชาวชุมชนเขาตะเกียบได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อรักษาประเพณีอันดีงามนี้ไว้.

Categories
ข่าว ทั้งหมด

ประจวบฯ เตรียมเปิดศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า

วันที่ 29 ตุลาคม 2566 นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เชิญคณะกรรมการเข้าประชุม ณ ที่ทำการศูนย์พัฒนาการเมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการโซนใต้ ในการที่จะเปิดศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และทำความเข้าใจ พร้อมแสดงความคิดเห็นการเสนอโครงการขอรับทุนสนับสนุน ปีงบประมาณ 2567 มีกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่นายนันทปรีชา คำทอง, น.ส.นันทรัตน์ เกื้อหนุน ผู้อำนวยการ รร.ธนาคารออมสิน, นายทิพย์รื่นเกษม, นายวิฑูรย์ บัวโรย, นายวีระชัย อินทรพงษ์ และ น.ส เด่นนภา สกลธนาวัฒน์ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

นายวัชรินทร์ กล่าวว่าการเปิดศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต้องมีการเปิดบัญชี และได้เสนอรายชื่อกรรมการศูนย์พัฒนาการเมือง ภาคพลเมือง 3 ท่าน เพื่อเปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขา บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประเภทออมทรัพย์ การพิจารณาเสนอโครงการขอรับทุนสนับสนุนปีงบประมาณ 2567 เสนอโครงการขอรับทุนสนับสนุนทั้ง 3 ประเภท ได้แก่โครงการอบรมเยาวชน ตามยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นพลเมือง อบรมให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย ทั้งทางตรงและทางอ้อม แบ่งกลุ่มแสดงความคิดเห็น และทำการประเมินก่อนและหลังการอบรม มีการอบรมให้ความรู้ทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ โดยจัดการประชุม อบรม ดูงาน สานเสวนา การสรุปบทเรียน พร้อมจัดทำชุดสื่อความรู้ทั้งสามโครงการโรงเรียนพลเมือง โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการโรงเรียนพลเมือง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อสร้างความรู้ การมีส่วนร่วมในการแก้ไข จัดการปัญหาและความต้องการของชุมชน ตามหลักค่านิยมหลักการรูปแบบและกระบวนการตามวิถีประชาธิปไตย และเมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว จะร่วมกันนำเสนอนขยายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นายวัชรินทร์กล่าว.

พิสิษฐ์ รื่นเกษม….รายงาน